สรุป บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย – مُلَخَّصُ كِتاَبِ الْبُيُوْعِ
รวบรวมและเรียบเรียง จากหนังสือ “อัลมุลักค๊อศอัลฟิกฮี่”
ของฟะฎีละตุ้ชเชค ศอและห์ อิบนุ เฟาซาน อัลเฟาซาน
(สมาชิกสภาอุละมาอาวุโส ประเทศซาอุดิอาราเบีย)
โดย อิสฮาก พงษ์มณี (ตอนที่ ๕)
สิทธิ์ในการซื้อการขาย
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีหลักการครอบคลุมทุกด้าน ละเอียด และยืดหยุ่น รักษาประโยชน์ของทุกคนทุกฝ่าย ขจัดความสับสน ยุ่งยาก และความเดือดร้อนต่างๆ ให้หมดไป ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงมีบัญญัติว่าผู้ซื้อขายย่อมมีสิทธิ์ในการเลือก มีระยะเวลาที่จะเลือก หรือยกเลิกการซื้อขายนั้นๆ
คำว่า “เลือก” ในที่นี้หมายถึงสิทธิ์ของผู้ซื้อและผู้ขายที่จะทำการซื้อขายต่อไปหรือยกเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกันแปดประการดังนี้
คิยารุ้ลมัจลิส (การเลือก ณ ที่ๆ ทำการซื้อขาย)
ผู้ซื้อผู้ขายมีสิทธิ์ที่จะปล่อยให้ข้อตกลงซื้อขายนั้นดำเนินไปหรือถูกยกเลิกตราบใดที่ทั้งสองไม่แยกจากกัน สิทธิ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า “คิยารุ้ลมัจลิส” ซึ่งมีตัวบทหะดีษจากท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ระบุไว้ชัดเจนดังนี้
إِذَا تَبَايَعَ الرَّجُلاَنِ فَكُلُّ وَاحِدٍ مِنْهُمَا بِالْخِيَارِ مَا لَمْ يَتَفَرَّقَا وَكَانَا جَمِيْعًا
“เมื่อบุคคลสองคนทำการซื้อขายกัน ทั้งคู่ต่างมีสิทธิ์เลือกเฟ้นตราบใดที่ทั้งคู่ไม่แยกจากันคือยังอยู่ด้วยกัน” [1]
ท่านอิบนุก็อยยิม อัลเญาซีย์ กล่าวว่า “การที่ศาสนาอนุญาตให้ผู้ซื้อผู้ขายที่ยังไม่แยกจากกันมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้น นับเป็นสิทธิ์ที่เอื้อประโยชน์แก่ทั้งคู่ และเป็นส่วนสมบูรณ์ของคำว่าเต็มใจและพอใจอันเป็นเงื่อนไขหลักของการซื้อการขายตามที่ศาสนากำหนด”
إِلاَّ أَنْ تَكُوْنَ تِجَارَةً عَنْ تَرَاضٍ مِنْكُمْ
“ยกเว้นเป็นการซื้อขาย (ที่เกิดขึ้น) จากความพึงพอใจของพวกเจ้า” [2]
อีกทั้งยังอยู่ในความหมายของอายะห์อัลกุรอานที่ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آَمَنُوْا أَوْفُوْا بِالْعُقُوْدِ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปฏิบัติตามพันธะสัญญาอย่างครบถ้วน”[3]
ข้อตกลงใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยพลันและไม่มีเวลาที่จะคิดทบทวนว่าดีหรือไม่ดี เหมาะหรือไม่เหมาะ เป็นข้อตกลงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียใจได้ในภายหลัง ดังนั้นศาสนาจึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่จะตกลงซื้อขายกันมีเวลาสำหรับการตัดสินใจ มีเวลาที่จะคิด และมีเวลาที่จะเลือก ดังนั้นผู้ซื้อขายต้องปฏิบัติตามนัยของหะดีษข้างต้น ทั้งนี้เพราะถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องปฏิบัติตาม จะละเลยมิได้ กล่าวคือทั้งคู่มีสิทธิ์เต็มที่จะเลือกตัดสินใจว่าจะปล่อยให้ข้อตกลงซื้อขายนั้นดำเนินต่อไปหรือยกเลิกมัน ตราบใดที่ทั้งคู่ยังอยู่ในสถานที่ๆ ทำการตกลงซื้อขายกันและยังมิได้แยกจากกันไปไหน แต่ถ้าทั้งคู่ตกลงและพอใจว่าจะไม่เลือกหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตกลงและพอใจว่าจะไม่เลือก การซื้อขายนั้นย่อมเกิดขึ้นและดำเนินไป การซื้อขายนั้นถือว่าถูกต้องเช่นกัน ทั้งนี้เพราะการเลือกเป็นสิทธิ์ของทั้งสองฝ่ายในการทำข้อตกลงซื้อขาย หากทั้งคู่หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสละสิทธิ์นั้น เขาย่อมกระทำได้ ตามที่ปรากฏตัวบทดังนี้
مَا لَمْ يَتَفَرَّقَا وَكَانَا جَمِيعًا أَوْ يُخَيِّرُ أَحَدُهُمَا اْلآخَرَ
“ตราบใดที่ทั้งคู่ (ผู้ซื้อผู้ขาย) ยังไม่แยกจากกัน หรือฝ่ายหนึ่งยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เลือก (กล่าวคือมอบสิทธิ์นั้นแก่อีกฝ่ายหนึ่ง)[4]
หากผู้ซื้อผู้ขายตกลงว่าให้อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์เลือกได้แต่อีกฝ่ายหนึ่งขอสงวนสิทธิ์นั้น ข้อตกลงซื้อขายดังกล่าวก็ยังถือว่าถูกต้อง เพราะสิทธิ์ดังกล่าวเป็นของทั้งฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขอถอนสิทธิ์นั้นเขาก็ย่อมกระทำได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ดี หากเกิดการตกลงซื้อขายกันแล้วและอีกฝ่ายหนึ่งรีบแยกตัวจากไปเพื่อมิให้อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์ในการเลือก การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นที่ต้องห้าม ท่านนบีกล่าวไว้ว่า
وَلاَ يَحِلُّ لَهُ أَنْ يُفَارِقَ صَاحِبَهُ خَشْيَةَ أَنْ يَسْتَقِيْلَهُ
“ไม่อนุญาตให้เขา (ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย) แยกจากคู่กรณีของเขา เหตุเพียงเพื่อกันมิให้อีกฝ่ายหนึ่งขอยกเลิก (ข้อตกลงซื้อขาย) ต่อเขา”[5]
คิยารุ้ลชัรฏ์ (การเลือกประเภทเงื่อนไข)
หมายถึงทั้งสองฝ่ายคือผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันว่าทั้งคู่มีสิทธิ์เลือกว่าจะให้การซื้อขายนั้นดำเนินไปหรือถูกยกเลิกในเวลาที่แน่นอน เช่น มีสิทธิ์เฉพาะขณะทำสัญญาซื้อขายเท่านั้น หรือมีสิทธิ์เฉพาะหลังจากการซื้อขายเพียงระยะเวลานับจากเกิดการซื้อขายเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ การตั้งเงื่อนไขเช่นว่านี้ก็มิได้ผิดแต่ประการใด และทั้งคู่ก็มีสิทธิ์กระทำได้ ทั้งนี้ต้องเป็นการยินยอมของทั้งสองฝ่าย สิทธิ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า “คิยารุ้ลชัรฏ์”
คิยารุ้ลฆ๊อบน์ (การเลือกเพราะความเสียหาย)
ความเสียหายที่ว่านี้หมายถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด(ผู้ซื้อผู้ขาย)โดยมีเหตุมาจากอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ซื้อขายกันแล้วปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวไม่ครบถ้วนหรือครบถ้วนแต่มีตำหนิ หรือว่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นราคาสินค้านั้นไม่ครบถ้วนตามที่ตกลงกัน หรือครบถ้วนแต่มีตำหนิ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกินปกติ
ผู้ที่เป็นฝ่ายได้รับความเสียหายนั้นมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้น เพราะมีตัวบทว่า
لاَ ضَرَرَ ولاَ ضِرَارَ
“ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่ตอบโต้ด้วยการสร้างความเดือดร้อน” [6]
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
لاَ يَحِلُّ مَالُ امْرِئٍ إِلاَّ بِطِيْبِ نَفْسٍ مِنْهُ
“ทรัพย์ของผู้หนึ่งผู้ใดจะไม่เป็นที่อนุมัติจนกว่าเขาจะยินยอมน้อมใจ” [7]
ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนและเสียหายย่อมไม่ยินยอมน้อมใจแน่นอน ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าความเสียหายที่กล่าวถึงนี้ต้องเป็นความเสียหายที่เกินปกติ หากเป็นความเสียหายตามปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ธนบัตรเก่าบ้างเล็กน้อย หรือสินค้ามีรอยขีดข่วนเป็นรอยขนแมว อย่างนี้ไม่นับว่าเป็นความเสียหายเดือดร้อนตามนัยที่กล่าวถึง เพราะความเสียหายเหล่านี้ไม่จัดว่าเป็นความเสียหายร้ายแรงจนต้องยกเลิกข้อตกลงซื้อขาย
[1] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2006, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1531 และท่านอื่นๆ
[2] อันนิซาอ์ / 29
[3] อัลมาอิดะห์ / 1
[4] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2006, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1531, และท่านอื่นๆ
[5] อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ์ / 1247, อันนะซาอี่ อัลบุยั๊วอ์ / 4483 และท่านอื่นๆ
[6] อิบนุมาญะห์ อัลอะห์กาม / 2340, อะห์หมัด 5/327
[7] อะห์หมัด 5/73