สรุป บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย – مُلَخَّصُ كِتاَبِ الْبُيُوْعِ
รวบรวมและเรียบเรียง จากหนังสือ “อัลมุลักค๊อศอัลฟิกฮี่”
ของฟะฎีละตุ้ชเชค ศอและห์ อิบนุ เฟาซาน อัลเฟาซาน
(สมาชิกสภาอุละมาอาวุโส ประเทศซาอุดิอาราเบีย)
โดย อิสฮาก พงษ์มณี (ตอนที่ ๑)
بسم الله الرحمن الرحيم
ملخص كتاب البيوع
สรุป
บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย
การซื้อขายเป็นสิ่งที่อนุมัติตามหลักการศาสนา
อัลลอฮ์และร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องภาคสังคมไว้ครบถ้วนชัดเจนเพื่อที่มนุษย์จะได้นำปฏิบัติได้โดยสะดวก ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความประสงค์สนองความต้องการบางประการของตน หากไม่สังคมกับผู้ใดแล้ว บางทีเขาอาจไม่สามารถสนองความต้องการของตนได้ เช่นความต้องการอาหารเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ต้องการเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และสิ่งจำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีวิตรวมถึงส่วนที่ทำให้การดำรงชีวิตสมบูรณ์ขึ้น
การซื้อขายถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาคสังคมที่อนุมัติตามหลักการที่ปรากฏใน อัลกุรอาน อัซสุนนะฮ์ อัลอิจมาอ์ และอัลกิยาส
– อัลลอฮ์ตรัสว่า
( وَأَحَلَّ اللهُ اْلبَيْعَ )
“อัลลอฮ์ทรงอนุมัติการซื้อขาย”[1]
لَيْسَ عَلَيْكَ جُنَاحٌ أَنْ تَبْتَغُوْا فَضْلاً مِنْ رَّبِّكُمْ )
“ไม่เป็นสิ่งผิดต่อพวกเจ้าที่จะแสวงหาความประเสริฐจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้า”[2]
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
( َالْبَيِّعَانِ بِالْخِيَارِ مَا لَمْ يَتَفَرَّقَا أَوْ قَالَ حَتَّى يَتَفَرَّقَا فَإِنْ صَدَقَا وَبَيَّنَا بُوْرِكَ لَهُمَا فِي بَيْعِهِمَا وَإِنْ كَتَمَا وَكَذَبَا مُحِقَتْ بَرَكَةُ بَيْعِهِمَا)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “ผู้ซื้อผู้ขายมีสิทธิ์เลือกได้ ตราบใดที่ทั้งคู่มิได้แยกจากกัน หากทั้งคู่สัจจริงและไม่ปกบิดอำพราง (ซึ่งกันและกัน) การซื้อขายของทั้งสองได้รับความจำเริญ แต่หากทั้งคู่โกหกและปกปิดอำพราง การซื้อขายของทั้งคู่ถูกลบความจำเริญ” [3]
– ปราชญ์เห็นพ้องต้องกันว่าการซื้อขายโดยทั่วไปนั้น เป็นที่อนุมัติ
– ส่วนหลัก “กิยาส-เทียบเคียงหลักการ” คือการซื้อขายถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิต บางคนอาจต้องการในสิ่งที่ตนไม่มีแต่ผู้อื่นมี ดังนั้นจึงต้องมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน
ลักษณะการซื้อขาย
การซื้อขายเกิดขึ้นด้วยสองวิธีคือ หนึ่งด้วยคำพูด สองด้วยการกระทำ
– การซื้อขายที่เกิดขึ้นจากคำพูด คือการกล่าวเสนอและสนอง การเสนอเรียกว่า “อัลอีญาบ” และการสนองเรียกว่า “อัลก็บู้ล” การเสนอคือคำพูดของผู้ขายที่เสนอขายสิ่งที่ตนเป็นเจ้าของอยู่ เช่น ข้าพเจ้าขายสิ่งนั้นสิ่งนี้ ส่วนการสนองคือคำพูดของผู้ซื้อ เช่น ข้าพเจ้าซื้อสิ่งนั้น เป็นต้น
– การซื้อขายที่เกิดจากการกระทำ คือการให้และการรับ เรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “อัลอัคซุ – อัลเอี๊ยอ์ฏออ์” เช่นผู้ขายยื่นสินค้าให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็รับสินค้านั้นพร้อมกับมอบราคาสินค้านั้นแก่ผู้ขาย ซึ่งอาจเป็นเงินทองหรือสิ่งที่มีค่าอื่นๆ ก็ได้
– การซื้อขายที่ผสมผสานระหว่างคำพูดและการกระทำ นักวิชาการกล่าวว่า การซื้อขายลักษณะ “มุอาฏ๊อต” (การซื้อขายที่เกิดจากการกระทำ) นั้นเป็นได้หลายรูปแบบดังนี้
ประการที่หนึ่ง เกิดการเสนอขายเป็นคำพูดจากผู้ขายเท่านั้น ส่วนผู้ซื้อก็เพียงแต่รับสินค้ามา เช่น ผู้ขายยื่นสินค้าให้ผู้ซื้อพร้อมกล่าวว่าหมวกใบนี้ราคาห้าสิบบาท ผู้ซื้อก็รับหมวกมาพร้อมจ่ายราคาค่าหมวกนั้นตรงตามราคาที่ผู้ซื้อเสนอขาย
ประการที่สอง เกิดการเสนอซื้อเป็นคำพูดจากผู้ซื้อเท่านั้น ส่วนผู้ขายก็เพียงแต่ส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซื้อ
ประการที่สาม เกิดการซื้อขายขึ้นจากทั้งสองฝ่ายโดยมิได้พูดกล่าวถ้อยคำใดๆ เลย เช่น ผู้ขายส่งสินค้าให้ผู้ซื้อหรือวางสินค้าไว้ ผู้ซื้อรับหรือหยิบสินค้านั้นพร้อมส่งมอบราคาค่าสินค้านั้นแก่ผู้ขาย ซึ่งเป็นวิธีการที่ถือปฏิบัติมาช้านานและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป การซื้อขายลักษณะดังกล่าวนักวิชาการเรียกว่า “อัลมุอาฏ๊อต” อ่านต่อ...
[1] อัลบะก่อเราะห์ / 275
[2] อัลบะก่อเราะห์ / 198
[3] อัลบุคอรี,บทซื้อขาย /2004, มุสลิม,บทซื้อขาย / 1532 และท่านอื่นๆ