คำตัดสินของปราชญ์อาวุโสเกี่ยวกับประเด็นการยืนชิด/ห่างในแถวละหมาด

คำตัดสินของปราชญ์อาวุโสเกี่ยวกับประเด็นการยืนชิด/ห่างในแถวละหมาด
แปลเเละเรียบเรียงโดยอ.ยะห์ยา หัสการบัญชา

1.คำตัดสินของเชคมุฮัมมัด ศอลิหฺ อัลอุษัยมีนในประเด็นการยืนชิด/ห่างในแถวละหมาด

“และด้วยเหตุนี้ทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุดในเรื่องการจัดแถวชิดในการละหมาด(ในภาวะปกติ)ก็คือ การจัดแถวชิดในการละหมาดนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น และคนที่ร่วมละหมาดญะมาอะฮ์เมื่อพวกเขาไม่จัดแถวให้ชิดกันนั้นถือว่าพวกเขาได้รับความผิดบาป และนี่คือคำกล่าวที่เปิดเผยของชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮ์

(คำกล่าวเชคอุษัยมีน)แต่หากว่าพวกเขา(คนที่มาร่วมละหมาดญะมาอะฮ์)สวนทาง(ในเรื่องนี้) ด้วยการยืนละหมาดไม่ชิดกัน(ห่างกัน) การละหมาดของพวกเขาถือว่าเป็นโมฆะ(ใช้ไม่ได้)หรือไม่?

คำตอบ: ในประเด็นนี้มีมุมมองอยู่ โดยอาจมีบางคนบอกว่าการละหมาดนั้นใช้ไม่ได้ เนื่องจากพวกเขาละทิ้งสิ่งที่เป็นสิ่งจำเป็น(การยืนชิดในแถวละหมาด) แต่การมองว่าการละหมาด(ที่ยืนห่างในแถวละหมาด)ใช้ได้ไม่เป็นโมฆะแต่มีความผิดบาปนั้น มีน้ำหนักแข็งแรงมากกว่า

เนื่องจากว่า การยืนชิดกันในแถวละหมาดนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่เป็นปัจจัยร่วมกับการละหมาด ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่อยู่ในการละหมาด หมายความว่า การยืนชิดในแถวละหมาดนั้นอยู่นอกเหนือจากอิริยาบทและท่าทางในการละหมาด

ซึ่งการละทิ้งสิ่งจำเป็นที่เป็นปัจจัยร่วมกับการละหมาดนั้นถือว่าเป็นความผิดบาป แต่ว่าไม่ได้ทำให้การละหมาดเป็นโมฆะ(ใช้ไม่ได้)แต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น การอะซาน(ประกาศเชิญชวนผู้คนให้ไปละหมาดเมื่อเข้าเวลา) แท้จริงมันไม่ได้ทำให้ละหมาดเป็นโมฆะ(ใช้ไม่ได้) เมื่อละทิ้งมันไป(เนื่องจากว่าการอะซานคือหนึ่งในสิ่งจำเป็นที่เป็นปัจจัยร่วมกับการละหมาดแต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่อยู่ในการละหมาด)”

ดูตำราชัรหุ้ลมุมเตียะอฺ ของเชคมุฮัมมัด บิน ศอลิหฺ อัลอุษัยมีน เล่มที่ 3 หน้าที่ 10


หมายเหตุ(คำถาม-ตอบเสริมจากผู้โพสต์)

ถาม : อธิบายเพิ่มเติม ที่ว่าการยืนห่างคือ สิ่งจำเป็นที่เป็นปัจจัยร่วมกับการละหมาด มิใช่สิ่งจำเป็นที่อยู่ในการละหมาดนั้น หมายความว่ายังไง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นได้ไหม?

ตอบ : การยืนชิดในแถวละหมาด มิใช่สิ่งจำเป็นที่อยู่ในการละหมาด เพราะนิยามของการละหมาดที่ปวงปราชญ์ได้ให้ไว้คือ การทำอิบาดะฮ์หนึ่งที่เริ่มต้นตั้งแต่การตักบีร่อตุ้ลเอี๊ยะหฺรอม ตามด้วยการก้มลงไปโค้งรุกัวะอฺ แล้วเงยขึ้นมายืนตรงจากนั้นลงไปกราบสุญูด เงยขึ้นมานั่งพักระหว่างสองสุญูด เช่นนี้เรื่อยไปจนกระทั่งให้สลามเป็นอันเสร็จสิ้นการละหมาด ซึ่งหากว่าผู้ที่ละหมาดได้ทำละหมาดอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มตักบีร่อตุ้ลเอี๊ยะห์รอมไปจนเสร็จสิ้นการละหมาดโดยไม่ละทิ้งท่าทางหรือคำกล่าวใดที่เป็นสิ่งจำเป็นในการละหมาดเลย และละหมาดไม่น้อยหรือมากกว่าจำนวนร่อกะอะฮ์ที่ศาสนากำหนดไว้ ก็ถือว่าการละหมาดของเขาถูกต้อง เนื่องจากเขาปฏิบัติสิ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่ในการละหมาดอย่างถูกต้องและครบถ้วน

จากตรงนี้เราจะเห็นว่าการยืนชิดในแถวละหมาดนั้น อยู่นอกเหนือไปจากอิริยาบถและท่าทางของการละหมาดที่จำเป็นที่อยู่ในการละหมาดตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสิ้น ด้วยเหตุนี้เองเชคอุษัยมีน ซึ่งเป็นหนึ่งในปราชญ์อาวุโสร่วมสมัยจึงได้ตัดสินว่าการละหมาดที่ยืนห่างในแถวละหมาดนั้นถูกต้องใช้ได้ไม่เป็นโมฆะ แต่ผู้ที่ยืนละหมาดห่างถือว่าทำบาปเนื่องจากละทิ้งสิ่งจำเป็นที่เป็นปัจจัยร่วมกับการละหมาด นั่นก็คือการยืนชิดในแถวละหมาดนั่นเอง อย่างที่เชคอุษัยมีนได้ยกตัวอย่างให้เข้าใจว่า สิ่งจำเป็นที่อยู่ในการละหมาดคือสิ่งใดบ้าง และสิ่งจำเป็นที่เป็นปัจจัยร่วมกับการละหมาดคือสิ่งใดบ้าง เช่นการอะซาน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำเมื่อเข้าเวลาละหมาด ซึ่งหากไม่มีใครอะซานเลย แต่พวกเขาละหมาดเมื่อเข้าเวลาโดยที่ไม่ได้อะซาน โดยขณะที่ละหมาดพวกเขาไม่ได้ละทิ้งสิ่งจำเป็นต่างๆที่อยู่ในการละหมาด เช่น อ่านฟาติหะฮ์ อ่านตะชะฮุด(อัตตะฮียาต) ฯลฯ ตั้งแต่เริ่มละหมาดจนเสร็จ ก็ถือว่าละหมาดของเขาถูกต้อง แต่พวกเขาทั้งหมดบาป เนื่องจากไม่มีใครเลยที่อะซานเมื่อเข้าเวลา

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง การละหมาดฟัรฎูร่วมกันเป็นญะมาอะฮ์คือสิ่งที่จำเป็น(ตามทัศนะปราชญ์หลายท่าน) ดังนั้นหากมองในมุมมองนี้ ผู้ที่ละหมาดฟัรฎูที่บ้านทั้งๆที่มีความสามารถจะไปละหมาดที่มัสญิดได้ ถือว่าเขาได้ละทิ้งสิ่งจำเป็นที่เป็นปัจจัยร่วมกับการละหมาดนั่นก็คือการละหมาดฟัรฎู(ภาคบังคับ)ร่วมกันเป็นหมู่คณะ(ญะมาอะฮ์) ดังนั้น หากว่าเขาทำละหมาดตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ได้ละทิ้งสิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่ในการละหมาด เช่น อ่านฟาติหะฮ์ อ่านตะชะฮุด(อัตตะฮียาต) ฯลฯ เท่ากับว่าการละหมาดของเขาถูกต้อง ใช้ได้ แต่ทำบาป เนื่องจากเขาละทิ้งการละหมาดภาคบังคับแบบร่วมกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งก็คือ สิ่งจำเป็นที่เป็นปัจจัยร่วมกับการละหมาด(ตามทัศนะปราชญ์หลายๆท่าน)

วัลลอฮ์ อะอฺลัม


2.คำตัดสินของคณะกรรมาธิการถาวรเพื่อการค้นคว้าและตอบปัญหาศาสนาแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งประกอบไปด้วยปราชญ์อาวุโสหลายท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ เชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน เกี่ยวกับการยืนห่างในแถวละหมาดญะมาอะฮ์เนื่องจากป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด

ถาม : พวกเราทำงานอยู่ในสถานพยาบาล และพวกเราก็ละหมาดร่วมกัน(ญะมาอะฮ์) โดยยืนในแถวเดียวกัน และยืนห่างกันประมาณหนึ่งเมตร และอิมามยืนอยู่ข้างหน้าของพวกเรา อยากทราบว่าการละหมาดของพวกเราถูกต้องหรือไม่?

ตอบ : ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด(ละหมาดได้)


นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านจากหลายแนวทาง แต่นำสองท่านนี้มาอ้างอิง(เชคอัลอุษัยมีนและเชคอัลเฟาซาน)เนื่องจากความอาวุโสและแนวทางที่ท่านทั้งสองยืนหยัด ประกอบกับการที่ท่านทั้งสองถูกพาดพิงและถูกนำไปอ้างอิงในแบบที่ไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับประเด็น,บริบทและสถานการณ์ ผู้โพสต์จึงต้องอาศัยพื้นที่ในโลกโซเชียลนี้ทำการชี้แจงความจริงให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้รับทราบและนำไปพิจารณากันด้วยหัวใจที่เป็นกลาง และหวังว่าอัลลอฮ์จะทรงเมตตาท่านทั้งหลาย และคุ้มครองให้ท่านทั้งหลายอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องและรอดพ้นจากแนวทางที่หลงผิดด้วยเถิด อามีน

ป.ล.หากท่านใดจะเลือกตามฟัตวาก็เป็นสิทธิ์ของเขา และเช่นกันหากท่านใดต้องการจะยืนชิดในการละหมาดร่วมกับบุคคลที่เขาไว้ใจและค่อนข้างมั่นใจในการปลอดเชื้อโควิดรวมถึงทำละหมาดในสถานที่ๆเขาคิดว่าปลอดภัยเช่นที่บ้าน โดยยังไม่ไปมัสยิดเนื่องจากพื้นที่ๆเขาอาศัยอยู่ยังคงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด เขาก็สามารถเลือกกระทำได้เนื่องจากเข้าข่ายอุปสรรคและภาวะที่จำเป็นเช่นเดียวกัน

เพียงแต่อย่าไปตัดสินหรือให้ร้ายบรรดาปราชญ์อาวุโสทั้งหลายที่ตัดสินว่าอนุญาตให้ยืนห่างในแถวละหมาดฟัรฎูได้เนื่องจากอยู่ในภาวะจำเป็นรวมถึงผู้ที่ยืนห่างในภาวะที่จำเป็นที่ตามคำตัดสินของบรรดาปราชญ์อาวุโสว่าเขาทำบิดอะฮ์,ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์,คลั่งใคล้ผู้รู้ หรือละหมาดของเขาใช้ไม่ได้นะครับ

ตัวบทฟัตวาภาษาอาหรับต้นฉบับทั้งของเชคอัลอุษัยมีนและเชคอัลเฟาซาน

ตัวบทภาษาอาหรับ

ต้นฉบับจากตำราชัรหุ้ลมุมเตียะอฺของเชคอัลอุษัยมีน เล่มที่3 หน้าที่ 10

الشرح الممتع للشيخ العثيمين، ج٣/ص١٠.

สรุปคำฟัตวาเกี่ยวกับการละหมาดในช่วงที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาด โดยคณะกรรมาธิการถาวรฯ หนึ่งในนั้นคือ เชคอับดุลอะซีซอาลุเชค มุฟตี(ผู้นำในการตอบปัญหาศาสนา)แห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย และเชคศอลิหฺอัลเฟาซาน(หนึ่งในปราชญ์อาวุโสร่วมสมัย)