จำเป็นจะต้องกล่าวถึงข้อดีของพวกอุตริกรรมด้วยหรือไม่ ?

dsa

จำเป็นจะต้องกล่าวถึงข้อดีของพวกอุตริกรรมด้วยหรือไม่ ?
โดย
เชค ซอลิฮ์ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน
นำเสนอโดย อบู อามิร

คำถาม

ระยะนี้มีประเด็นที่พูดกันในหมู่วัยรุ่น นั่นคือ การวิจารณ์อย่างมีดุลยภาพ พวกเขากล่าวว่า เมื่อไปวิพากษ์วิจารณ์ใคร (ที่ทำบิดอะฮ์) แล้วชี้แจงข้อผิด ก็จำเป็นจะต้องกล่าวถึงข้อดีของเขาด้วย เพราะเป็นการให้ความยุติธรรมและเป็นการสร้างความสมดุลในการวิจารณ์ จึงอยากถามว่า การวิจารณ์เช่นนี้ถูกหรือไม่ แล้วผมจำเป็นจะต้องพูดถึงด้านดี เมื่อวิจารณ์ใครหรือไม่

คำตอบ

คำถามนี้ได้ตอบไปแล้ว หากแต่ผู้ถูกวิจารณ์เป็นอะฮ์ลิซสุนนะฮ์ฯ แล้ว เรื่องที่เขาผิด ไม่ได้ทำให้หลักเชื่อมั่นสั่นคลอนไป หากเป็นเช่นนี้ก็พึงกล่าวถึงความดีงามของเขาให้มากกว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากเขาได้ช่วยเหลือแนวทางสุนนะฮ์ไว้

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกวิจารณ์เป็นพวกที่ไม่รู้เรื่อง เป็นพวกที่หลงผิด เป็นพวกบิดเบือน มีอุดมการณ์ที่จ้องทำลายอิสลามหรือมีความคลุมเครือ ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่อนุญาตให้เรากล่าวถึงข้อดีใดๆของเขา แม้เขาจะมีคุณความดีก็ตาม เพราะหากเราได้กล่าวออกไป นั่นก็เท่ากับเป็นการลวงให้ผู้คนเข้าใจผิด ไปคิดแง่ดีกับพวกคนที่หลงผิด คนอุตริ งมงาย เล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ เหล่านี้ อันจะทำให้อาจรับเอาความคิดของคนพวกนี้มาประพฤติปฏิบัติก็เป็นได้

อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงตอบโต้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา บรรดาพวกก่ออธรรม พวกที่ตีสองหน้า โดยไม่ได้พูดถึงข้อดีใดๆของพวกเขาเลย บรรดาผู้นำชนรุ่นก่อนก็เช่นเดียวกัน (أئمة السلف) ต่างกล่าวตอบโต้พวกมุอฺตะซิละฮ์ พวกญะฮ์มียะฮ์และคนที่ไม่รู้เรื่อง โดยไม่ได้พูดถึงข้อดีของเขาเลย เพราะด้านดีของพวกเขานั้นมีน้อยกว่าการหลงผิด การปฏิเสธศรัทธาและการกลับกลอก เมื่อมีการตอบโต้พวกเหล่านี้จึงไม่สมควรจะเอ่ยถึงข้อดีของพวกเขา เช่นพูดว่า “เขาเป็นคนดี เขาก็มีดีหลายอย่าง อย่างนั้น อย่างนี้ แต่เขาผิดในเรื่องนี้ๆ” เป็นต้น ฯลฯ

เราขอบอกว่า การชมเช่นนี้มันร้ายแรงยิ่งกว่าการหลงผิดของบุคคลนั้นๆเสียอีก เพราะผู้คนจะถือเอาคำชมที่มีต่อบุคคลนั้นๆมาเป็นบรรทัดฐาน แล้วเมื่อมีการพูดถึงบุคคลที่หลงผิด หรืออุตริไปในทางที่ดีแล้ว ผู้คนก็ย่อมถูกลวงให้หลงตามไปด้วย นับเป็นการเปิดประตูรับอาความคิดของพวกหลงผิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

หากผู้ถูกตอบโต้เป็นอะฮ์ลิซสุนนะฮ์ วัล ญะมาอะฮ์ ก็ให้ตอบโต้ไปโดยมีมารยาทด้วยการเตือนให้ทราบถึงปัญหา (فقه) หรือการวินิจฉัยใดๆที่ผิดพลาดไป โดยกล่าวว่า คนนั้นผิดตรงนั้นตรงนี้ ที่ถูกคือเช่นนั้นเช่นนี้ พร้อมยกหลักฐาน และขอต่ออัลลอฮ์ทรงอภัยให้กับเขา และว่านี่เป็นการวินิจฉัยของเขา ส่วนที่ถูกเป็นเช่นนี้ ดังเช่นการตอบโต้ต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างนักนิติศาสตร์อิสลามจากมัษฮับทั้ง 4 และคนอื่นๆ ฯลฯ

หากเขาเป็นอะฮ์ลิซสุนนะฮ์ วัล ญะมาอะฮ์ ฐานะทางวิชาการของเขาก็ไม่ได้ด่างพร้อยแต่อย่างใด เพราะอะฮ์ลิซสุนนะฮ์ วัล ญะมาอะฮ์ ไม่ใช่คนที่ปราศจากความผิด ต่างก็มีข้อผิดพลาด บางคนอาจตกหล่นในเรื่องของหลักฐาน อาจบกพร่องในการวินิจฉัย แต่เราจำต้องไม่เงียบงันต่อข้อผิดพลาดนี้ หากแต่ให้ชี้แจงพร้อมขออภัยให้แก่เขา (إذا حكم الحاكم) ดังกล่าวนี้สำหรับด้านปัญหาฟิกฮ์ แต่หากเป็นปัญหาในด้านหลักเชื่อมั่น(อะกีดะฮ์) ก็อย่าได้เอ่ยชมพวกที่หลงผิด พวกที่ทำตัวค้านกับอะฮ์ลิซสุนนะฮ์ วัล ญะมาอะฮ์ ไม่ว่าจะเป็นพวกมุอฺตะซิละฮ์ ญะฮ์มียะฮ์ มุลฮิดะฮ์ พวกไม่มีศาสนา และจำพวกคนที่ชอบทำตัวคลุมเครือไม่ชัดเจน ดังเช่น ที่มีอยู่มากเหลือเกินในสมัยนี้

ต้นตอข้อสงสัยนี้ (ดุลยภาพด้านดี และด้านไม่ดีในการวิจารณ์) อันเนื่องจาก มีหนุ่มสาวบางคนได้พูด ได้เขียนถึงเรื่องนี้กันมาก เรื่องนี้จึงได้แพร่หลายออกมา

เราขอจบเรื่องนี้ไว้ที่สาส์นของเชค ร่อเบียะอฺ บิน ฮาดียฺ อัล-มัดคอลียฺ ซึ่งได้มีการตอบอย่างชัดเจนสมบูรณ์ต่อผู้ที่อ้างว่า “จำต้องมีดุลยภาพในการวิจารณ์” พร้อมชี้แจงคำพูดที่ผิด เชิญชวนให้หลงเชื่อ อีกทั้งยังกล่าวถึงแนวทางสะลัฟในการตอบโต้ ที่พวกเขาได้ตอบโต้กับพวกที่ลงทางโดยไม่มีการเอ่ยชมอะไรพวกนั้น เพราะหากมีการเอ่ยชม ทุกอย่างมันก็ดูแย้งกัน

คนเรานั้น ไม่ว่าใครต่างก็มีความดีด้วยกันทั้งนั้น กระทั่งยิวหรือคริสเตียนก็ตามที ซึ่งกฎของพวกที่อ้างดุลยภาพนั้นมีอยู่ว่า “หากกล่าวถึงผู้ปฏิเสธ ก็จำเป็นต้องกล่าวถึงข้อดีของเขาด้วย” ซึ่งคนมีปัญญาเขาจะไม่พูดเช่นนี้ เว้นแต่จะเป็นพวกนักศึกษา… ขอให้นึกดู –ขออัลลอฮ์ทรงชี้นำเราทั้งหมดด้วยเถิด-

แนวทางสะลัฟในการวิจารณ์นั้น จะไม่พูดถึงด้านดี แต่หากจะพูดถึง ก็จะไม่ลวงให้ผู้คนถูกลวงด้วยคำพูดนี้ ซึ่งไม่ใช่คำพูดแบบว่า “เราไม่ควรจะลืมการมุ่งมั่น การทุ่มเท ผลงานของพวกเขา ฯลฯ ”

และนี่เป็นตัวอย่างที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวอย่างอื่นใด เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เที่ยงตรง มีความสว่างไสวสำหรับผู้คิดพินิจพิจารณา

ดังที่ท่านเราะซูล (ศ็อลฯ) กล่าวว่า

وإذا حكم الحاكم فاجتهد فأصاب فله أجران ، وإذا حكم فاجتهد فأخطأ فله أجر واحد

 “เมื่อผู้พิพากษา ตัดสินและใช้ความพยายามจนสุดความสามารถและตัดสินได้ถูกต้อง เขาจะได้ผลบุญสองเท่า และเมื่อเขาตัดสินด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดที่สุด แต่ตัดสินผิด เขาจะได้รับผลบุญหนึ่งเท่า”  (บันทึกโดย อิม่ามบุคอรีย์)

ท่านเราะซูล(ศ็อลฯ) ได้กล่าวถึงหะดีษที่พูดถึงพวกเคาะวาริจ ว่า

يخرج من ضئضئ هذا قوم يقرؤون القرآن لا يجاوز حناجرهم يمرقون من الدين مروق السهم من الرمية، يقتلون أهل الإسلام ويقتلون أهل الأوثان، لئن أنا أدركتهم لأقتلنهم قتل عاد

“กลุ่มชนหนึ่งที่อ่านอัลกุรอานไม่พ้นลูกกระเดือก พวกเขาออกจาศาสนาดังเช่นธนูที่พุ่งออกจากแล่ง เข่นฆ่าผู้นับถืออิสลาม เรียกร้องเชิญชวนสู่การบูชาเจว็ด หากฉันมีชีวิตอยู่ทันพวกเขา ฉันจะฆ่าพวกเขาดังเช่นการฆ่าพวกอ๊าด”   (บันทึกโดย อิม่ามบุคอรีย์)

อีกรายงานหนึ่งระบุว่า

يحقر أحدكم صلاته مع صلاتهم وصيامه مع صيامهم

“การละหมาดของคนหนึ่งคนใดในพวกท่านจะน่าดูถูกยิ่ง หากจะเทียบกับการละหมาดของพวกเขา การถือศีลอดก็เช่นกัน ” (บันทึกโดย อิม่ามบุคอรีย์)

อีกรายงานหนึ่งระบุว่า

فأينما لقيتموهم فاقتلوهم

“หากพวกท่านพบเจอพวกเขาที่ใด ก็จงฆ่าพวกเขา” (บันทึกโดยอิม่ามบุคอรีย์)

เราขอบอกว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ผู้ซึ่งไม่มีสิ่งใดคู่ควรต่อการเคารพภักดีอย่างแท้จริงนอกจากพระองค์ ท่านเราะซูล (ศ็อลฯ) ไม่ได้พูดกล่าวชมอันใดพวกเขา เพื่อให้ผู้คนหลงชื่นชมพวกเขาไปด้วย หากแต่ท่านได้เตือนให้ผู้คนระวัง จะได้ไม่ถูกหลอก อันเนื่องมาจากการกระทำดีของพวกเขาที่ฉาบหน้าเอาไว้ ชาวสะลัฟก็เข้าใจตามนี้ พร้อมนำมาใช้ในชีวิตจริง จนกลายเป็นแนวทางที่พวกเขายึดถือ ดูอย่างท่านอิม่ามอะฮ์หมัด เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ที่ว่า อัล-กะรอบีซียฺ ที่พูดว่า “อัลกุรอานเป็นมัคลูก”

ท่านอิม่าม อับดุลลอฮ์ เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัซ-สุนนะฮ์” ของท่านว่า “เราได้ยินพ่อพูดว่า : ใครพูดคำสองคำที่ว่า ‘กุรอ่านเป็นสิ่งถูกสร้าง (มัคลูก)’ นี่คือเป็นคำพูดที่แย่ยิ่ง เป็นคำพูดของพวกญะฮ์มียะฮ์ เราบอกกับพ่อว่า : ฮุเซน อัล-กะรอบีซียฺ พูดอย่างนี้ พ่อพูดว่า : คนเลวนั้นมันโกหก –ขออัลลอฮ์ให้มันพินาศ- ”

ท่านอิม่ามอะฮ์หมัด เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ได้เคยพูดถึง อัล-ฮาริษ อัล-มุฮาซิบียฺ ไว้แรงกว่านี้อีก โดย อลี อิบนุ อบีคอลิด ได้เล่าให้ฟังว่า “เราเคยพูดกับอะฮ์หมัดว่า : เชคคนนี้เป็นเพื่อนบ้านของเรา (เชคที่มาด้วยกัน) ก่อนหน้านี้เราเคยเตือนห้ามเขาไปยุ่งกับชายคนหนึ่ง และเขา (เชค) ก็อยากฟังคำพูดของท่านถึงชายคนนั้นด้วย หมายถึง ฮาริษ อัล-กุศ็อยรฺ (ฮาริษ อัล-มุฮาซิบียฺ)

ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ท่านเองก็เคยเห็นเราอยู่กับเขา (ฮาริษ) แล้วท่านก็บอกกับเราว่า : อย่านั่งร่วมกับเขา อย่าได้สนทนากับเขา เราก็ไม่คุยกับเขาจนถึงบัดนี้ ส่วนเชคที่นั่งร่วมกับเขาล่ะ ท่านจะว่าอย่างไร ? เราเห็นอะฮ์หมัดหน้าแดงก่ำ เส้นเลือดที่ต้นคอและนัยน์ตาทั้งสองโป่งออกมา เราไม่เคยเห็นเขาเป็นเช่นนี้มาก่อน แล้วท่านก็ลุกขึ้นมาพูดขึ้นว่า : อะไรกัน ! ขออัลลอฮ์ทรงจัดการกับเรื่องนี้ คนที่รู้จัก (ฮาริษ) คือคนที่รู้สึกว่าเขาเป็นเช่นไร แย่ แย่ แย่จริงๆ ไม่มีใครรู้จักชายคนนั้น (ฮาริษ) นอกจากคนที่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับตัวเขาจริงๆ เขา(ฮาริษ) เคยนั่งร่วมอยู่กับอัล-มะฆอซีลีย์, ยะอฺกูบ, แล้วก็คนนั้นก็ดึงพวกเขาไปสู่การคิดแบบพวกญะฮ์ม พวกนั้นต่างย่อยยับก็เพราะเขา

เชคได้พูดกับอะหฺมัดว่า : นี่ อบูอับดุลลอฮ์ นักรายงานหะดีษ ผู้สุขุม ท่านไปเอามาจากไหนใครเล่าให้ท่านฟัง ? อบูอับดุลลอฮ์ (อะฮ์หมัด) ก็โกรธและบอกว่า : อย่าให้คนที่สุขุม คนที่อ่อนน้อมของเขามาหลอกลวงท่าน อย่าได้ให้อาการคอตกของเขามาลวงท่านได้ เขาเป็นคนเลว ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเขาเป็นเช่นไร นอกจากคนที่รู้จักเขาจริงๆเท่านั้น ท่านอย่าได้พูดจาสนทนากับเขา เขาหาได้มีเกียรติไม่ หากแต่จงอยู่กับผู้ที่พูดด้วยกับหะดีษของท่านเราะซูล (ศ็อลฯ) เขานั้นยังเป็นผู้อุตริ ท่านยังจะไปนั่งร่วมกับเขาอีกหรือ ? อย่าเลย มันไม่มีเกียรติและความน่าอภิรมย์ใดๆเลย”

เราขอบอกว่า ไหนเล่า ความยุติธรรม(ที่ถูกแอบอ้าง) ของท่านอิม่ามอะหฺมัด ท่านไม่ได้พูดถึงแม้เพียงความดีเดียวของอัล-กะรอบีซียฺ อัลมุฮาซีบียฺ ทั้งๆที่อัล-กะรอบีซียฺเป็นปราชญ์ ดังที่พบในประวัติของเขา ซึ่งมีอยู่ในหนังสือ ซิยัร ตารีค บัฆดาด

ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่านอิม่ามอะหฺมัด หากท่านอยู่ในยุคสมัยเรา ท่านคงไม่ได้อยู่อย่างสงบแน่ ทั้งคงถูกโจมตีว่าเป็นพวกทุนนิยม พวกติดอยู่กับทฤษฎี รวมถึงคำอื่นๆที่พวกลัทธินิยมชอบใช้ด่าว่าเวลาที่ไม่รู้จะเอาอะไรมาเถียงแล้ว เพราะท่านเองไม่ใช่พวกคนจะประจบสอพลอเอาใจกลุ่มคนอุตริ ยึดถือตามอารมณ์

ท่านรอฟิอฺ อิบนุ อัชรอส เราะฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า  “บทลงโทษของพวกที่ทำตัวฝ่าฝืนและพวกอุตริ คือ การไม่พูดถึงความดีใดๆของพวกเขาเลย”

ท่านผู้อ่านทั้งหลาย เหตุการณ์นี้ได้ชี้ชัดถึงอันตรายที่ผู้คนถูกล่อลวงด้วยการเอ่ยชมเชยพวกอุตริ ท่านอิม่ามอัซ-ซะฮะบีย์ อละท่านอื่นๆ ได้เล่าถึงเหตุการณ์นี้ให้ฟังว่า “อบูอัล-วาลิด อัล-บาญียฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ (اختصار فرق العلماء) ตอนที่พูดถึงอัล-กอฎียฺ อบูบักร อัล-บากิลานีย์ว่า : อบูซัร อัล-ฮัรวียฺ (ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นแนวทางอะชาอิเราะฮ์) ได้บอกเรา เราถามเขาว่า : ท่านไปรับแนวความคิดนี้มาจากไหน? เขาบอกว่า : เราเคยเดินอยู่กับ อบูฮะซัน อัด-ดารอกุฎนียฺแล้วพบกับอัลกอฎียฺ อบูบักร อิบนุ ฎิบ ที่เป็นอะชาอิเราะฮ์  อัด-ดารอกุฎนียฺก็ได้หยุดพบเขา หอมหน้าหอมตาอัล-บากิลานียฺ พอเขาแยกจากกัน เราเลยถามเขาว่า : ใครกันที่ท่านปฏิบัติกับเขาเช่นนี้ ทั้งๆที่เราไม่คิดว่าท่านจะทำ เนื่องเพราะท่านเองเป็นอิม่ามในช่วงเวลานี้? อัด-ดารอกุฎนียฺ บอกว่า : นี่เขาเป็นอิม่ามของมวลมุสลิม

นับจากนั้นมาเขาก็ได้ไปพบกับเขา อัลกอฎียฺ อบูบักร อิบนุฎ ฏิบ อยู่เรื่อยๆ แล้วยึดตามแนวความคิดของเขามา” ดู (السير وتذكرة الحفاظ)

เราขอบอกว่า  เรื่องนี้ท่านจะได้เห็นสิ่งที่อัด-ดารอกุฎนียฺทำต่ออัล-บากิลานียฺ อัล-อัชอะรียฺ รวมถึงเอ่ยคำชมต่างๆนานา เขาเป็นอิม่ามมุสลิมีน ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิด แล้วไปยึดแนวอะชาอิเราะฮ์ ก็เป็นเช่นนั้นแหละ ใครที่ไปเอ่ยชมกลุ่มผู้อุตริคล้อยตามอารมณ์ ผู้คนก็จะหลงเชื่อเข้าใจผิดไปตามแนวความคิดของพวกนั้น ยิ่งถ้าผู้อุตริคนนั้นดูดี เป็นคนมีตำแหน่งฐานะ วัลลอฮุอะอฺลัม

อาจมีคนพูดว่า ‘ทำไมถึงพูดกันถึงแต่พวก มุอฺตะซิละฮ์, ญะฮ์มียะฮ์ ซะนาดิเกาะฮ์, อะชาอิเราะฮ์, เคาะวาริจ และมุรญีอะฮ์อยู่เรื่อยๆ เวลาพูดถึงอะกีดะฮ์ ทั้งที่กลุ่มพวกนี้เป็นอดีตไปแล้ว พวกคนในกลุ่มก็ตายๆไปแล้ว ดังเช่นที่กล่าวกันว่า “ถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา” ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องพูดถึงเลย ? เราขอบอกว่า (ขออัลลอฮ์ทรงประทานความสำเร็จ) จริงอยู่ที่กลุ่มพวกนี้เป็นอดีตไปแล้ว คนก่อตั้ง คนในกลุ่ม อะไรๆก็ตายกันไปหลายรุ่นแล้ว แต่ความคิดหลักเชื่อมั่นของพวกนั้นยังคงมีอยู่ พวกสาวกที่ตามก็ยังมีอยู่ในสมัยเรา แนวความคิดความเชื่อของพวกเขานั้นส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น มันยังคงมีคนเผยแพร่แนวความคิดนี้อยู่ด้วย

แนวความคิดของพวกมุอฺตะซิละฮ์ ยังมีอยู่ มันแพร่ไปสู่คนที่อ้างตัวว่าเป็นมุสลิม นั่นเพราะชีอะห์ในทุกแขนง แม้กระทั่งพวกซัยดียะฮ์ ก็มีแนวความคิดแบบมุอฺตะซิละฮ์

พวกอัชอะรียะฮ์ เป็นกลุ่มที่มีอยู่ในมุสลิมในทุกวันนี้ พวกอิรญาอฺก็ยังคงมีอยู่ในกลุ่มฮานาฟียฺที่เห็นว่า การอีม่านคือ การเชื่อมั่นด้วยหัวใจ และกล่าวออกมาด้วยกับคำพูดเท่านั้น ณ พวกเขา การกระทำไม่ได้นับรวมเข้าไปด้วย ถึงแม้ว่าพวกอิรญาอฺนี้จะดูเบากว่า อิรญาอฺของพวกใช้วาทกรรม (อิรญาอฺ อะฮ์ลุลกาลาม) ก็ตาม

แม้ในช่วงสมัยนี้ก็ยังมีกลุ่มแนวความคิดที่ค้านกับอะฮ์ลิซสุนนะฮ์ วัล ญะมาอะฮ์ หากแต่ในทุกยุคทุกสมัยย่อมมีคนคอยปกป้องหลักอะกีดะฮ์นี้ไว้อยู่

ทางสภาลัจญนะฮ์ฯ ของซาอุดี้ฯได้ออกมาเตือนให้ผู้คนระวังกลุ่มมุรญีอะฮ์ในฟัตวา ว่า “คำพูดของพวกมุรญีอะฮ์ที่ไม่นับเอาการกระทำร่วมอยู่ในการศรัทธา พวกเขาพูดว่า ‘การศรัทธา คือ การเชื่อมั่นด้วยหัวใจ’ หรือคำพูดที่ว่า ‘คือ การเชื่อมั่นด้วยหัวใจ และเปล่งวาจาเท่านั้น’ ส่วนการกระทำนั้น ไม่ได้ถือว่า การกระทำนั้นเป็นการศรัทธา ฉะนั้น ใครที่ศรัทธาด้วยหัวใจ เปล่งคำพูดออกมา ก็ถือว่าเป็นผู้ศรัทธาที่สมบูรณ์ แล้วแต่ความคิดของพวกเขา แม้เขาจะละทิ้งการกระทำที่เป็นวาญิบและการกระทำสิ่งที่ต้องห้าม ถึงอย่างไรก็ได้เข้าสวรรค์ แม้จะไม่ได้ทำดีเลยก็ตาม !?

ชัดเจนว่า คำพูดแบบนี้มันไม่ถูก ผิดจริงๆ ค้านกัน อะฮ์ลิซสุนนะฮ์ วัล ญะมาอะฮ์ทั้งชนรุ่นแรกและรุ่นหลังที่ได้ยึดถือเอาไว้เป็นการเปิดประตูไปสู่กลุ่มคนที่เลวร้าย ”[1]

ส่วนพวกที่ไม่มีศาสนา พวกศูฟียฺ ฯลฯ ก็ยังมีอยู่ เพราะผู้ติดตาม อิบนุ อะรอบียฺ อัฏ-ฏออียฺ ยังมีอยู่ เป็นพวกศูฟียฺสุดโต่ง แม้กระทั่งในปัจจุบัน

นี่แหละที่พวกเราพูดถึงกลุ่มพวกนี้ เราไม่ได้พูดถึงเถ้ากระดูก แต่เราพูดถึงกลุ่มที่ยังปรากฏในหมู่มุสลิม มันเป็นเรื่องที่นักศึกษาจะต้องรู้ หากแต่เมื่อเราพูดถึงกลุ่มพวกนี้ ก็จะมีคนที่ไม่รู้จักความจริงหรือต้องการล่อลวงผู้คนด้วยหลักเชื่อมั่นผิดมาค้านเรา คนพวกนี้ต้องถามก่อนที่จะมาค้านไม่ให้เราพูด นี่แค่พูดแบบย่อๆ ไม่เช่นนั้นเรื่องคงยาวกกว่านี้ วัลลอฮุอะอฺลัม

ต่อไปนี้เป็นบางตัวอย่างที่เผยให้เห็นว่าแนวความคิดของกลุ่มพวกนี้ยังมีอยู่

1.สัยยิด กุฏบ เขียนไว้ในหนังสือ (ظلال القران) เล่มที่ 4 หน้า 2328 ว่า

– “กุรอ่านเป็นสิ่งที่ปรากฏชัด ดังเช่น แผ่นดิน แผ่นฟ้า” คำพูดนี้บอกให้ทราบว่า กุรอ่านเป็นมัคลูก(สิ่งถูกสร้าง) เป็นคำพูดของพวกญะฮ์มียะฮ์

– ในหนังสือ (ظلال القران) บอกว่า อายะฮ์กุรอ่านมีท่วงทำนองที่ประสานกันแบบดนตรี อย่างเช่นในซูเราะฮ์อัล-กิยามะฮ์, อัฏ-เฏาะลาก, อัล-ฆอซิยะฮ์, อัล-ฟะญัร, อัช-ชัมสฺ ฯลฯ เป็นต้น

และให้ลักษณะอัลลอฮ์ว่าเป็น (الصانع) “ผู้กระทำ” ในซูเราะฮ์อัล-อะอฺลา และอัลลอฮ์นั้นทรงสูงส่งเหนือยิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขากล่าวขานกัน

2.สัยยิด กุฏบ ยังเขียนไว้ในหนังสือ (ظلال القران) เล่มที่ 6 หน้า 4002 ตอนตัฟซีร     قل هو الله أحد  ว่า “มันคือ การมีอยู่อย่างแท้จริงเพียงหนึ่งเดียว ความจริงแท้มีเพียงสิ่งนี้เท่านั้น การมีอยู่ของพระองค์ คือการมีอยู่ที่จริงแท้ ส่วนสรรพสิ่งอื่นๆที่มีอยู่นั้น เชื่อมโยงกับการมีอยู่คู่อย่างจริงแท้ของพระองค์” นี่เป็นแนวความคิดของ วะฮ์ดะติลวุญูด

– เชค อุษัยมีน บอกว่า “เราได้อ่านตัฟซีร (ظلال القران) ซูเราะฮ์อัล-อิคลาสของเขา (สัยยิด กุฏบ) เขาพูดจาได้สาหัสมากซึ่งค้านกันกับอะฮ์ลิซสุนนะฮ์ วัล ญะมาอะฮ์ การตัฟซีรของเขาชี้ให้เห็นว่าเขาพูดจาแบบพวกศูฟียฺ วะฮ์ดะติลวุญูด”

– เชค อัล-บานียฺ บอกว่า “สัยยิด กุฏบ ได้ใช้คำพูดแบบพวกศูฟียฺ จึงเข้าใจได้ว่า เขาพูดแบบพวก วะฮ์ดะติลวุญูด”

– เชค อัล-บานียฺยังได้เขียนไว้ในบทนำหนังสือ

(العواصم مما في كتب سيد قطب من القواصم) ของเชค ร่อเบียะอฺ บิน ฮาดียฺ อัล-มัดคอลียฺ ว่า “ทุกสิ่งที่เราไม่ยอมรับในตัวสัยยิด กุฏบ นั้นเป็นจริงนั่นทำให้ผู้อ่านที่เป็นมุสลิมประจักษ์ชัดถึงวิชาการทางอิสลามอย่างหนึ่งที่ว่า สัยยิด กุฏบ นั้นไม่ได้มีความรู้ลึก-ตื้นใดๆในอิสลามเลย ขออัลลอฮ์ทรงตอบรับความดีแก่ ร่อเบียะอฺ น้องชาย ที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่อันจำเป็นอย่างยิ่งในการชี้แจงและเปิดโปงถึงความเขลา การหันเหของเขาจากอิสลาม”

3.มุฮัมมัด กุฏบ กล่าวว่า “มันมีความจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องผู้คนไปสู่อิสลามกันอีกครั้ง หาใช่เพราะผู้คนที่ไม่ยอมกล่าววาจา ‘ลาอิลาฮะ อิล ลัลลอฮ์ มุฮัมมะดุร เราะซูลุลลอฮ์’ ไม่ ดังเช่นรุ่นแรกๆที่เป็นเช่นนั้น หากแต่ที่หมายถึง เพราะในคราวนี้ พวกเขาไมได้ยอมรับ (ทำตัวให้สอดคล้องกับ) คำว่า ‘ลาอิลาฮะ อิล ลัลลอฮ์’ ที่เอ่ยออกมานั่นคือการตัดสินตามบทบัญญัติของอัลลอฮ์” จบ (จากหนังสือ واقعنا المعاصرة)

เราขอบอกว่า : นี่เป็นการบอกว่า ผู้คนโดยรวมทั้งหมดปฏิเสธศรัทธา ถ้าไม่ได้หมายความว่าเช่นนั้น เขาจะชี้ชัดไปว่าผู้คนไม่ได้ยอมรับการตัดสินของอัลลอฮ์ได้อย่างไร? เขาจะเปรียบเทียบผู้คนยุคนี้กับพวกญาฮีลียะฮ์ก่อนอิสลามได้อย่างไร พูดมาโดยไม่ได้แจงรายละเอียด หรือเอ่ยยกเว้นผู้ตัดสินตามบัญญัติของอัลลอฮ์ ผู้ที่มีคัมภีร์ของอัลลอฮ์เป็นธรรมนูญเดียว วัลลอฮุอะอฺลัม

[1] ดู (كتاب التحذير من الإرجاء وبعض الكتب الداعية)