คำถามน่ารู้ เกี่ยวกับสตรี ในเดือนรอมฎอน

คำถามน่ารู้ เกี่ยวกับสตรี ในเดือนรอมฎอน
แปลโดย อุมมุ้ล อุลย้า

คำถาม หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรต้องถือศีลอดหรือไม่ ?

▶ คำตอบ จำเป็นต้องถือศีลอด ยกเว้นในกรณีที่การถือศีลอดเป็นอันตรายและสร้างความยากลำบากที่ไม่ใช่สภาวะปกติแก่ตัวเธอเอง ก็อนุญาตให้ไม่ต้องถือศีลอดได้ แต่เธอจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ ส่วนในกรณีที่เธอไม่ได้ถือศีลอด เหตุเพราะเป็นห่วง กังวล เกรงจะเป็นอันตรายต่อทารก หรือลูกเล็กที่ยังต้องให้นม ก็ให้เธอถือศีลอดชดใช้พร้อมกับเสียฟิดยะฮ์ (ให้อาหารแก่คนยากจนหนึ่งคนหนึ่งมื้อ) ทั้งนี้ เพราะการไม่ถือศีลอดในสภาวะดังกล่าวเป็นประโยชน์ทั้งแก่แม่และบุตร

➖ ที่มา : ( www.aliftaa.jo)

หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรจำเป็นต้องถือศีลอดไม่ว่าสภาพใด ๆ ยกเว้นในกรณีที่เธอเกรงว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบจากการถือศีลอด ก็ให้ละเว้นไม่ต้องถือศีลอด แต่ต้องชดใช้ หากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าการถือศีลอดเป็นอันตรายต่อตัวเธอ ก็อนุญาตให้เธอไม่ต้องถือศีลอดได้ และให้เธอถือศีลอดใช้ เช่นเดียวกันหากอาจเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ก็อนุญาตให้ละเว้นการถือศีลอด และให้เธอถือศีลอดใช้ กระนั้นก็ตาม อย่าได้ละเว้นการถือศีลอดอย่างพร่ำเพรื่อ นอกจากจะมีผลกระทบแก่เธอและทารกเท่านั้น

➖ ที่มา (อัลฟะตาวา อัดดุรูส ฟิ้ล มัสญิดิ้ลหะรอม 469 )

—————————– 🌼

คำถาม หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร หากละเว้นการถือศีลอด ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอุปสรรค แข็งแรงดี กระฉับกระเฉง และการถือศีลอดไม่ส่งผลกระทบอะไร ศาสนามีบทบัญญัติอย่างไร ?

▶ คำตอบ ไม่อนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรละเว้นการถือศีลอดนอกจากจะมีอุปสรรคเท่านั้น และเมื่อเธอไม่ได้ถือศีลอด ก็จำเป็นที่เธอต้องถือศีลอดใช้ ดังที่อัลลอฮ์ตะอาลา ตรัสว่า

“ และคนป่วย หรือคนเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน อัลลอฮ์ประสงค์ให้มีความสะดวกง่ายดายในแก่พวกเจ้า และไม่ประสงค์ให้เกิดความยากลำบากแก่พวกเจ้า ” (อัลบะก่อเราะฮ์ : 185)

ทั้งนี้เพราะ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรต่างอยู่ในสถานะของผู้ป่วยด้วยเช่นเดียวกัน

➖ ที่มา : มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์(19 / 161)

—————————– 🌼

คำถาม หญิงตั้งครรภ์มักคลื่นไส้อาเจียนหลังละหมาดซุบฮิ การถือศีลอดของเธอจะใช้ได้หรือไม่ ?

▶ คำตอบ ไม่เป็นอะไรเลย การถือศีลอดของเธอใช้ได้ หากเธออาเจียนโดยไม่ได้เจตนา ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

“ ผู้ใดที่อาเจียนเอาชนะเขา (อาเจียนโดยไม่เจตนา) ย่อมไม่มีการชดใช้ใด ๆ ”

➖ ที่มา : (อัลฟะตาวา อัดดุรูส ฟิ้ล มัสญิดิ้ลหะรอม 503 )

—————————–🌼

คำถาม ควรบวชหกหรือบวชใช้ก่อน?

▶ คำตอบ ไม่เป็นไรที่จะถือบวชสุนัต อาทิ บวชหก หรือ บวชวันอะรอฟะฮ์ บวชวันอาชูรอ ก่อนที่จะบวชใช้เดือนรอมฎอน หากมีเวลาเหลือพอ เพราะห้วงเวลาในการบวชใช้นั้นกว้าง แต่ที่ดีกว่าคือ ควรเริ่มบวชใช้รอมฎอนก่อน และสามารถบวชสุนัตอื่นๆ ด้วยเหนียตที่จะบวชใช้ เมื่อนั้นเขาก็จะได้รับผลบุญของการบวชสุนัตในวันนั้น ๆ และผลบุญของการบวชใช้ในรอมฎอนที่ขาดไป (เช่น บวชสุนัตวันอาชูรอ และเหนียตรวมบวชใช้ไปด้วยในคราวเดียวกัน – ผู้แปล)

แต่สำหรับในกรณีบวชหกแล้ว จะได้ผลบุญก็ต่อเมื่อบวชรอมฎอนได้ครบเต็มเดือนเสียก่อน เพราะบวชหกนั้นต่อเนื่องจากเดือนรอมฎอน ดังที่มีหะดีษระบุว่า

“ ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และติดตามการถือศีลอดนั้นด้วยการถือศีลอดอีก 6 วัน ในเดือนเชาว้าล ก็เท่ากับว่าเขาได้ถือศีลอดตลอดทั้งปี “

➖ ที่มา : (มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์)

ที่สมควรยิ่ง คือ ควรบวชใช้ก่อน แม้อุละมาอฺบางท่านจะเห็นว่าอนุญาตให้บวชหกก่อนก็ตามอันเนื่องจากมีห้วงเวลาที่กว้างกว่า แต่ที่ดีที่สุดแล้วคือ การบวชฟัรฎู เพราะเป็นเรื่องบังคับสำหรับตัวเธอ จากนั้นจึงค่อยบวชสุนัต ดังที่มีหะดีษระบุว่า

“ อัลลอฮ์จะยังไม่ทรงตอบรับการงานที่เป็นสุนนะฮ์ จนกว่าจะปฏิบัติในสิ่งที่เป็นฟัรฎูเสียก่อน ”

➖ ที่มา : (อัลฟะตาวา อัดดุรูส ฟิ้ล มัสญิดิ้ลหะรอม 523 )

—————————–🌼

คำถาม ผู้หญิงควรละหมาดตะรอเวียฮ์ที่ใดดีที่สุด ?

▶ คำตอบ ละหมาดตะรอเวียะฮ์ของผู้หญิงภายในบ้านของเธอเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด แต่หากการที่เธอไปละหมาดที่มัสญิดแล้วทำให้เธอรู้สึกแข็งขันกระฉับกระเฉงมากกว่า และมีคุชั้วะ (นอบน้อมในการละหมาด) มากกว่า หรือเกรงว่าหากละหมาดที่บ้านแล้วจะทำให้เธอพลาดไม่ได้ละหมาด ในกรณีเช่นนี้ การละหมาดในมัสญิดสำหรับเธอนั้นถือเป็นสิ่งประเสริฐยิ่งกว่า

➖ ที่มา : (ฟะตาวา เชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์)

—————————–🌼

คำถาม มีประจำเดือนมาหกวัน อาบน้ำยกหะดัษตอนกลางคืนและถือศีลอดในวันถัดมา จากนั้นมีคราบสีน้ำตาลขุ่นแต่ยังถือศีลอดอยู่ กรณีเช่นนี้จะยังนับว่าใช่ประจำเดือนหรือไม่ ซึ่งปกติจะมาประจำเดือนอยู่ 7 วัน

▶ คำตอบ คราบที่ปรากฏไม่นับว่าเป็นประจำเดือน เพราะคราบหรือร่องรอยที่ปรากฏหลังจากที่ตัวสะอาดแล้ว ไม่นับว่าเป็นอะไร ดังที่ท่านหญิงอฏียะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เคยกล่าวไว้ว่า

“ เราไม่นับเอาคราบเมือกสีเหลืองและคราบขุ่นหลังจากที่ตัวสะอาดแล้วว่าเป็นสิ่งใดเลย ”

อีกรายงานหนึ่ง ไม่ปรากฏคำว่า “ หลังจากที่สะอาด ” ฉะนั้น เลือดประจำเดือน คือเลือดข้น ไม่ใช่ทั้งคราบเมือกสีเหลืองหรือรอยขุ่น เมี่อเป็นเช่นนี้ การถือศีลอดของผู้หญิงคนนี้จึงใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในวันที่เธอเห็นคราบหรือไม่เห็นคราบก็ตาม เพราะคราบที่ปรากฎหาใช่ประจำเดือนไม่

➖ ที่มา : มุคตะศ็อร ฟะตาวา เชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์เชค (19 / 105)

—————————–🌼

คำถาม กรณีที่ผู้หญิงถือศีลอดทั้ง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าตัวสะอาดแล้วหรือไม่ พอรุ่งเช้าวันถัดไปจึงมั่นใจว่าตัวสะอาดแน่ การถือศีลอดของเธอใช้ได้หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่เธอไม่แน่ใจว่าสะอาดจริงแล้วหรือยัง ?

▶ คำตอบ การถือศีลอดถือว่าใช้ไม่ได้ จำเป็นที่เธอจะต้องชดใช้ เพราะแต่เดิมเธอยังคงมีประจำเดือนอยู่ การที่เธอถือศีลอดโดยที่ยังไม่มั่นใจในความสะอาด ถือเป็นเข้าสู่การทำอิบาดะฮ์ทั้ง ๆ ที่ยังมีความคลางแคลงสงสัยในเงื่อนไขของการทำอิบาดะฮ์นั้นอยู่ (เงื่อนไขคือ ต้องสะอาดปราศจากเฮดหรือนิฟาส) กรณีเช่นนี้ จึงนับเป็นสิ่งขัดขวางทำให้การถือศีลอดของเธอยังใช้ไม่ได้

➖ ที่มา : (มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์) 107/19

—————————–🌼

คำถาม สมควรพาเด็กไปมัสยิดหรือไม่ ?

▶ คำตอบ หากว่าเด็กรบกวนผู้ที่กำลังละหมาดไม่ว่าจะด้วยการกระโดดโลดเต้น ร้องตะโกน หรือส่งเสียงดังก็ดี น่าเกรงว่าผู้ที่พาเด็กไปมัสยิดอาจมีความผิดอันเนื่องจากทำให้ผู้ละหมาดเสียสมาธิ และเป็นการสร้างความรบกวน การที่ผู้หญิงอยู่กับเด็ก ๆ ในบ้านจึงเป็นการดีกว่าที่จะพาเด็กมามัสยิดในกรณีที่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ถ้าหากเป็นเด็กที่นิ่ง เรียบร้อย รู้มารยาท ก็ไม่เป็นไรที่จะพามา แต่หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นคนที่เป็นผู้ปกครองต้องจัดการและทำให้เด็กเงียบ

➖ เชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ – ที่มา : (ลิกออฺ อัชชะฮ์รีย์ 41)

—————————–🌼

คำถาม คนเดินทาง บวชหรือไม่บวช อันไหนดีกว่ากัน ?

▶ ที่ดีที่สุด คือ ทำในสิ่งที่สะดวกสำหรับเขา หากว่าการถือศีลอดเป็นเรื่องที่สะดวกกว่า ก็ให้ถือศีลอด และหากว่าการไม่ถือศีลอดเป็นเรื่องที่สะดวกกว่า ก็ไม่ต้องถือศีลอด แต่หากว่าสะดวกพอ ๆ กัน ที่ดียิ่งคือ ควรถือศีลอด เพราะถือเป็นการกระทำของท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และเป็นแนวทางการปฏิบัติของท่าน อีกทั้งยังเป็นการรักษาบทบัญญัติศาสนาของตัวเองให้ปลอดภัยที่สุด การถือศีลอดในรอมฎอนจึงนับว่าสะดวกง่ายดายกว่าการที่ต้องถือศีลอดชดใช้ เราจึงให้น้ำหนักในการประเมินว่า

◽◾ 1. หากการไม่ถือศีลอด เป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดายกว่า ก็ไม่ต้องถือศีลอด

◽◾ 2. หากการถือศีลอด เป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดายกว่า ก็ให้ถือศีลอด

◽◾ 3. หากทั้งสองกรณีสะดวกพอ ๆ กัน ที่ดีกว่าคือ ควรถือศีลอด

➖ ที่มา : มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ (19 / 137)

—————————–🌼

ฮุก่มของผู้ที่เสียชีวิตแต่ยังเหลือบวชที่ต้องชดใช้ ?

▶ หากเขาเสียชีวิตไปโดยยังเหลือบวชใช้ในเดือนรอมฎอนค้างอยู่ ก็ให้วะลีย์ซึ่งหมายถึงญาติใกล้ชิดถือศีลอดชดเชยให้

ดังหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

“ ผู้ใดที่เสียชีวิตไปโดยที่เขายังมีการถือศีลอดชดใช้ค้างอยู่ ก็ให้ผู้เป็นวะลีย์ถือศีลอดแทนเขาผู้นั้น ”

และหากวะลีย์ไม่ได้ถือศีลอดแทนให้เขา ก็ให้ให้อาหารแก่คนยากจนแทนในแต่ละวันที่ขาดไป

➖ ที่มา : มุคตะศ็อร ฟะตาวาเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ (19 / 386)