ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับอิบาดะฮ์ในเดือนรอมฏอน

ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับอิบาดะฮ์ในเดือนรอมฏอน
เรียบเรียงโดย มุบาร็อก แดงโกเมน

ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของเดือนรอมฏอนคิดว่าหลายท่านก็คงมีความขมักเขม้นมากขึ้นในการทำอิบาดะฮ์ต่างๆในเดือนนี้จึงอยากนำเสนอสาระทางวิชาการที่เคยเสนอไปแล้วมาทบทวนกันใหม่และเพื่อเป็นความรู้แก่ผู้ที่ไม่รู้ในประเด็นต่างๆดังนี้…

** ประเด็นที่ 1** 

จะละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์กี่รอกอัต…? มากกว่าหรือน้อยกว่า 13 ร็อกอัตจะได้หรือไม่…? และจะถือว่าทำเกินเลยไปกว่าท่านนบีหรือเปล่า..?

การละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์คือการยืนละหมาดซุนนะฮ์ในยามค่ำคืนอาจเรียกได้อีกว่าละหมาดกิยามุ้ลลัยลฺหรือละหมาดตะฮัจญุดแต่ในเดือนรอมฏอนการละหมาดซุนนะฮ์หลังจากละหมาดอิชาอฺจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ตะรอเวี๊ยฮ์” การละหมาดดังกล่าวเป็นซุนนะฮ์ด้วยมติเอกฉันท์จากปวงปราชญ์ (อิจมาอฺ)

** วีธีการละหมาดและจำนวนร็อกอัต ** 

ท่านนบีมุฮัมหมัด -ศ๊อลลัลลอฮ์อาลัยฮิวะซัลลัม- ได้กล่าวว่า 

ละหมาดซุนนะฮ์ในยามค่ำคืน คือ ให้ละหมาดทีละสอง ทีละสองร็อกอัต (เป็นคู่)
[บันทึกโดยอิมามบุคอรีย์ 1137]

หลังจากนั้นให้ละหมาดวิเตรปิดท้ายเพียงครั้งเดียว เนื่องจากท่านนบีกล่าวว่า 

“ไม่มีการละหมาดวิเตรสองครั้งในคืนเดียว”

ในเรื่องของจำนวนร็อกอัตนั้นบรรดาซอฮาบะฮ์ที่เป็นปราชญ์ระดับสูงตลอดจนปราชญ์ในยุคสะลัฟหลายท่าน มัษฮับทั้งสี่ และปวงปราชญ์ร่วมสมัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลกมีการปฏิบัติต่างกันในจำนวนร็อกอัตของละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์…แต่ท่านเหล่านั้นไม่ได้มีทัศนะหรือข้อขัดแย้งใดๆ เลยว่าห้ามละหมาดเกิน 11 หรือ 13 ร็อกอัต ขอสรุปรายละเอียดคร่าวๆดังนี้..

1. ท่านอิมามอิบนิกุดามะฮ์ ได้กล่าวในประเด็นนี้ว่า : ทัศนะที่ถูกเลือกจากอะบีอับดิ้ลลา (อิมามอะฮ์หมัด)ในการละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์ คือ 20 ร็อกอัต ผู้ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้ยังมีท่านซุฟยาน อัลเษารีย์ ท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮ์และท่านอิมามชาฟิอีย์ ส่วนท่านอิมามมาลิกนั้นท่านละหมาด 36 ร็อกอัต (ดู “المغني”เล่ม1หน้า457)

2. ท่านอิมามอันนะวะวีย์ ได้กล่าวในประเด็นนี้ว่า: การละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์เป็นซุนนะฮ์ด้วยมติเอกฉันท์จากปวงปราชญ์ (อิจมาอฺ) มัษฮับเรา(ชาฟิอีย์)ยึดทัศนะที่ว่าละหมาด 20 ร็อกอัต 10 สลาม จะละหมาด คนเดียวหรือละหมาดเป็นญะมาอะฮ์ก็ได้ (ดู” المجموع ” เล่ม 4หน้า 31)

** ตรงนี้เป็นทัศนะของบรรดาปวงปราชญ์จากมัษฮับทั้งสี่ในประเด็นเรื่องจำนวนของร็อกอัตในละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์ โดยทั้งหมดนั้นเห็นตรงกันว่าสามารถกระทำได้เกิน 11 ร็อกอัต โดยมีเหตุผลสนับสนุนในการที่บอกให้กระทำได้เกินกว่า 11 ร็อกอัตดังนี้..

(2.1) เนื่องจากว่าพวกท่านเหล่านั้นมีความเห็นว่า หะดีษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อดิยัลลอฮุอันฮาในเรื่องการละหมาดยามค่ำคืนของท่านนบีนั้นไม่ได้บ่งชี้ถึงการกำหนดจำนวนร็อกอัตเป็นการเฉพาะเจาะจง

(2.2) มีรายงานในเรื่องนี้เป็นจำนวนมากที่บอกว่า ชาวสะลัฟนั้นได้เพิ่มจำนวนร็อกอัต(มากกว่า 11 ร็อกอัต)ในการละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์ (ดู ” المغني ” เล่ม 2หน้า 604 และ ” المجموع ” เล่ม 4หน้า 32)

3. ท่านเชคคุ้ลอิสลามอิบนิตัยมียะฮ์ ได้กล่าวในประเด็นนี้ว่า: และการละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์นั้น (การละหมาดของท่านอิบนิตัยมียะฮ์) ก็เหมือนกับการละหมาดของอิมามอบูฮะนีฟะฮ์ อิมามอะห์มัดและอิมามชาฟิอีย์ คือ จำนวน 20 ร็อกอัต เช่นเดียวกับอิมามมาลิกที่ละหมาด 36 ร็อกอัต หรือจะละหมาด 13 หรือ 11 ร็อกอัต ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมาดนี้ล้วนถือว่าเป็นการกระทำที่ดีทั้งสิ้น ดังที่มีตัวบทหลักฐานจากอิมามอะห์มัดที่ไม่ได้มีการกำหนดจำนวนร็อกอัตเป็นการเฉพาะ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับการที่ยืนละหมาดนานหรือไม่นาน. (ดู ” الاختيارات ” หน้า 64)

4.ท่านเชคสุไลมาน อัลฮัรบีย์ (رحمه الله) ได้กล่าวในเรื่องนี้โดยอ้างอิงคำกล่าวมาจากท่านอิบนิดะกีกอฺ อัลอีด และเชคคุ้ลอิสลามอิบนิตัยมียะฮ์ว่า: เรื่องนี้เป็นอิจมาอฺ(มติเอกฉันท์ตรงกันของบรรดาปวงปราชญ์ในยุคนั้น) ว่า “การละหมาดซุนนะฮ์ในยามค่ำคืนนั้นไม่มีการกำหนดจำนวนร็อกอัตเป็นการเจาะจงเฉพาะ” (เป็นเรื่องที่เปิดกว้างแก่ผู้ศรัทธา -ผู้เขียน) ดังนั้นไครที่ไปกล่าวหาว่าคนที่ละหมาดเกิน 11 ร็อกอัตนั้นได้ทำบิดอะฮ์ (อุตริกรรมในเรื่องศาสนา) คนผู้นั้นหาได้มีความเข้าใจในตัวบทหลักฐานเลย.

  • ท่านอิมามชาฟิอีย์ กล่าวว่า :ผู้คนในเมื่องของเราคือมักกะฮ์จะละหมาด 20 ร็อกอัต.
  • ท่านอิมามมาลิก กล่าวว่า :ผู้คนในเมื่องมะดีนะฮ์นั้นจะละหมาด 36 ร็อกอัต.
  • ท่านเชคคุ้ลอิสลามอิบนิตัยมียะฮ์ กล่าวว่า: เป็นที่ยืนยันชัดเจนว่าบรรดาซอฮาบะฮ์ในสมัยท่านอุมัรจะทำการละหมาด 20 ร็อกอัตพร้อมกับละหมาดวิตรอีก 3 ร็อกอัต.
  • ท่านอิมามติรมิซีร์ได้กล่าวว่า :เหล่าปวงปราชญ์ส่วนมากจากบรรดาซอฮาบะฮ์และบรรดาซอฮาบะฮ์ท่านอื่นๆอีกมากในสมัยท่านอุมัร ท่านเหล่านั้นจะทำการละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์จำนวน 20 ร็อกอัต..(อ้างอิงจากหนังสือ الصيام من المحرر ของเชคสุไลมาน อัลฮัรบีย์ เล่ม 1หน้า 51)

5.ท่านเชคมุฮัมหมัด บิน อับดิลวะฮ์ฮาบ (رحمه الله) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า: การละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์เป็นซุนนะฮ์ที่ส่งเสริมให้กระทำ ตลอดจนมีการปฏิบัติของท่านอุมัร อิบนิ ค็อตฏอบ ที่ได้รวมผู้คนให้มาทำละหมาดรวมกันโดยให้ท่านอุบัยอฺ บินกะอฺ เป็นอิมามนำละหมาด (จำนวน 20 ร็อกอัต)และทัศนะนี้ยังถูกเลือกจากท่านอิมามอะฮ์หมัด (คือละหมาด 20 ร็อกอัต) ท่านอิมามชาฟิอีย์ ส่วนอิมามมาลิกและทัศนะของเรา(มุฮัมหมัด บินอับดิลวะฮ์ฮาบ) จะละหมาด 36 ร็อกอัต (ดูหนังสือ مختصر الإنصاف والشرح الكبير เล่ม1หน้า 212 )

**..ในส่วนของปราชญ์ร่วมสมัยขอนำเสนอโดยสรุปๆดังนี้..**

ทัศนะของปราชญ์ร่วมสมัยที่เห็นพ้องกันในเรื่องจำนวนร็อกอัตในละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์ที่ว่า : ไม่มีการกำหนดตายตัวในจำนวนร็อกอัตในละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์ ดังกล่าวเป็นเรื่องที่เปิดกว้างแก่ผู้ศรัทธาให้สามารถกระทำจำนวนเท่าใดก็ได้โดยกระทำทีละ 2 ร็อกอัต และจบด้วยการละหมาดวิตรเพียงครั้งเดียว..ดังเช่นท่าน เชคอับดุลอะซี๊ซ บินบาซ เชคมุฮัมหมัด บินอุซัยมีน เชคอับดุลลอฮ์ บินญิบรีล เชคมุฮัมหมัดซอและฮ์ อัลมุณญิด เชคซอและฮ์บินเฟาซาน อัลเฟาซาน เชคอะฏียะฮ์ มุฮัมหมัดซาลิม เชคสุไลมาน อัลฮัรบีย์ เชคอับดุลอะซีซ สุไลมาน เชคฮะซัน มะอฺมูน เป็นต้น.. / นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสลามระดับโลกที่ได้กล่าวเห็นพ้องในประเด็นนี้ไว้ด้วยเช่นกัน เช่น “คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและตอบปัญหาศาสนา” แห่งประเทศซาอุดิอาราเบีย หมายเลขฟัตวา (6148) และในหนังสือ فتاوى الأزهر (แห่งมหาวิทยาลัยอัลอัซฮร) เล่ม1หน้า 48 

//**หมายเหตุ** ในประเด็นดังกล่าวนี้แม้ว่าเชคอัลบานีย์จะมีทัศนะว่า ละหมาดตะรอเวี๊ยฮ์นั้นไม่เกิน13ร็อกอัต แต่ทัศนะนี้ไม่ถูกยอมรับจากนักวิชาการจำนวนมากเนื่องจากว่าค้านกับความเข้าใจและการปฏิบัติของปวงปราชญ์ในยุคซอฮาบะฮ์และสะลัฟ ตลอดจนบรรดาปราชญ์ร่วมสมัยอีกเป็นจำนวนมากดังหลักฐานบางส่วนที่ได้นำเสนอไปข้างต้น…

*/สรุป.. “การละหมาดซุนนะฮ์ในยามค่ำคืนนั้นไม่มีการกำหนดจำนวนร็อกอัตเป็นการเจาะจงเฉพาะ” (เป็นเรื่องที่เปิดกว้างแก่ผู้ศรัทธา)โดยทำทีละสองร็อกอัตและปิดท้ายด้วยวิเตรเพียงครั้งเดียว ดังนั้นจึงไม่เป็นการสมควรที่จะไปกล่าวหาว่าคนที่ละหมาดเกิน11หรือ13ร็อกอัตนั้นได้ทำบิดอะฮ์ (อุตริกรรมในเรื่องศาสนา)

** ประเด็นที่ 2**

ละหมาดวิเตรตั้งแต่ต้นคืนแล้วก็ไปนอน พอตื่นขึ้นมาอยามดึกจะละหมาดกิยามุลลัยน์ (สุนนะฮ์ในตอนกลางคืนหรือที่รู้จักกันในนาม “ตะฮัจญุด”) ได้หรือไม่..?

คำตอบ คือ สามารถกระทำได้ โดยมีหลักฐานการปฏิบัติและได้เห็นพ้องในเรื่องนี้ด้วย จากบรรดาซอฮาบะฮ์และปวง ปราชญ์ในยุคอดีต เช่น ท่านอะบูบักร์ อัศศิดดี๊ก ท่านอะบูฮุรอยเราะห์ ท่านหญิงอาอิชะห์ ท่านซะอฺ บินอบีวักกอศ ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อับบาส ท่านอัมมาร อิบนุ ยาสิร ท่านรอเฟี๊ยอ์ อิบนุ คุดัยญ์ ท่านอาอิซ อิบนุ อัมร์ ท่านฏ่อลัก อิบนุ อาลี ท่านสะอี๊ด อิบนุ มุซัยยิบ ท่านอัลก่อมะห์ ท่านชะอ์บี่ ท่านอิบรอฮีมอัลนัคอี่ ท่านสะอีด อิบนิ ญุเบร ท่านมักฮูล ท่านฮะซัน อัลบัศรี่ ท่านฏอวุส อิบนิกีซาน อบูมุซลิซ ท่านซุฟยาน อัลเษารีย์ ท่านอิมาม มาลิก ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิมุบาร็อก และท่านอิหม่ามอะหมัด อิบนิ ฮัลบัล…ขออัลลอฮ์ทรงพอพระทัยแด่พวกท่าน. (อ้างอิงจากหนังสือ นัยลฺลุลเอาฏอน บท* لا وتران في ليلة وختم صلاة الليل بالوتر* และหนังสือ المغني เล่ม 1หน้า 830. ท่านอิหม่ามอันนะวะวีย์ก็เห็นพ้องในเรื่องนี้ ดู المجموع เล่ม3 หน้า 512

**ท่านอิหม่ามชาฟีอีย์ ท่านอิหม่ามบัยฮะกีย์ ท่านอิหม่ามฏ่อฮาวีย์อิหม่าม มุฮัมมัด อิบนุ นัศร์ อัลมัรวะซี่ ท่านมุฮัมหมัด อัลบัฆดาดี่อัลมุคอลลิศ

** นอกจากนี้ยังมีปราชญ์ร่วมสมัย เช่นท่าน เชคอับดุลอะซี๊ซ บินบาซ เชคอุซัยมีน เชคอับดุรร๊อซซาก อะฟีฟี่ เชคอับดุลลอฮ์ อิบนุ ฆุดัยยาน เชค อับดุลลอฮ ก่ออู๊ด เป็นต้น