สรุป บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย – مُلَخَّصُ كِتاَبِ الْبُيُوْعِ
รวบรวมและเรียบเรียง จากหนังสือ “อัลมุลักค๊อศอัลฟิกฮี่”
ของฟะฎีละตุ้ชเชค ศอและห์ อิบนุ เฟาซาน อัลเฟาซาน
(สมาชิกสภาอุละมาอาวุโส ประเทศซาอุดิอาราเบีย)
โดย อิสฮาก พงษ์มณี (ตอนที่ ๖)
สิทธิ์ยกเลิกการซื้อขายอันเกิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวง ซึ่งมีสามรูปแบบดังนี้
รูปแบบที่หนึ่ง ออกไปดักรอสินค้าก่อนถึงตลาด เรียกตามที่ระบุในหะดีษว่า “ตะลักกอรรุ๊กบาน” ซึ่งหมายถึงบรรดาพ่อค้าที่ออกไปดักรอผู้นำสินค้ามาสู่ตลาดและซื้อด้วยราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ส่วนใหญ่บรรดาผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ค้าขายที่ไม่คุ้นกับตลาดนั้น ๆ มักไม่ทราบว่าสินค้าที่ตนนำมาขายในตลาดดังกล่าว มีราคาสูงขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด จึงเป็นโอกาสของพ่อค้าหัวใสออกไปดักรอก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะนำสินค้ามาถึงตลาดและซื้อด้วยราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้นเมื่อเจ้าของเดิมของสินค้านั้นมาถึงตลาดและทราบต่อมาภายหลังว่าสินค้าของเขาถูกซื้อไปในราคาต่ำเกินจริงจากราคาในตลาด เขาก็มีสิทธิ์ยกเลิกการค้าขายนั้นได้ ท่านนบีกล่าวว่า
لاَ تَلَقَّوْا الْجَلَبَ فَمَنْ تَلَقَّاهُ فَاشْتَرَى مِنْهُ فَإِذَا أَتَى سَيِّدُهُ السُّوقَ فَهُوَ بِالْخِيَارِ
“พวกเจ้าอย่าได้ดักผู้นำสินค้าเข้าตลาด หากผู้ใดซื้อจากเขาเมื่อเจ้าของเขาถึงตลาดเขาย่อมมีสิทธิ์เลือก (คือหากเห็นว่าถูกเอาเปรียบเกินไปก็สามารถยกเลิกการซื้อขายนั้นได้)” [1]
แต่ถ้าเจ้าของเดิมไม่ติดใจก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ถ้าเขาไม่พอใจเขาย่อมมีสิทธิ์ขอยกเลิกการค้าขายนั้นกับบรรดาผู้ที่ออกไปดักรอเขาก่อนที่เขาจะนำสินค้ามาถึงตลาด เพราะถือว่าเขาเป็นผู้เสียหาย ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์กล่าวว่า
أَثْبَتَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لِلرُّكْبَانِ الخِيَارَ إِذَا تُلُقُّوْاِلأَنَّ فِيْهِ نَوْعُ تَدْلِيْسٍ وَغِشٍّ
“ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยืนยันสิทธิ์ในการยกเลิกหรือให้การค้าดำเนินไป แก่ผู้นำสินค้าเข้าตลาดหากพวกเขาถูกดักซื้อนอกตลาด ก็เพราะการดักซื้อสินค้านอกตลาด มีอะไรที่ไม่ชอบและไม่ซื่อ” [2]
ท่านอิบนุก๊อยยิม อัลเญาซีย์ กล่าวว่า “ (ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ห้ามเช่นนั้นก็เพราะว่ามันเกิดผลเสียแก่ผู้ขายเพราะเขาอาจไม่ทราบราคาที่แท้จริงตามราคาตลาด และผู้ที่ซื้อไปจากเขาก็มักซื้อในราคาที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงเปิดโอกาสให้เขามีสิทธิ์ที่จะปล่อยการค้าขายนั้นให้ดำเนินไปหรือจะยกเลิกมัน การยืนยันในสิทธิ์ดังกล่าวไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ (ในหมู่ปวงปราชญ์) หากว่าเกิดความเสียหายแก่ผู้ขายจริงๆ เพราะผู้นำสินค้าเข้าตลาดหากเขาไม่ทราบราคาสินค้าในตลาด แน่นอนเขาย่อมไม่ทราบราคาที่เหมาะสม ดังนั้นผู้ที่ออกไปดักซื้อจากเขา(นอกตลาด) ย่อมเอาเปรียบและทำความเสียหายแก่เขา ดังนั้นจึงเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะคงการซื้อขายนั้นไว้หรือยกเลิกมันเมื่อทราบราคาที่เหมาะสมหลังจากที่เขามาถึงตลาดแล้ว” [3]
รูปแบบที่สอง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มราคาสินค้าโดยหน้าม้าหน้าม้าคือผู้ที่ไม่ประสงค์จะซื้อสินค้าแต่อย่างใด หากแต่ทำทีเป็นต่อรองเพื่อให้ผู้ประสงค์จะซื้อสินค้าที่แท้จริงหลงกลซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น ในภาษาอาหรับเรียกว่า “อัลนาญิช” การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นที่ต้องห้าม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
وَلاَ تَنَاجَشُوْا
“อย่าปฏิบัติลักษณะหน้าม้า”[4]
ทั้งนี้เพราะเป็นการหลอกผู้ซื้อซึ่งก็อยู่ในความของคำว่าโกงหรือเป็นวิธีโกงประเภทหนึ่ง
การที่ผู้ขายกล่าวว่า ฉันได้รับสินค้าหรือซื้อมาเท่านั้นเท่านี้โดยที่เขาโกหกเพื่อหวังว่าผู้ซื้อจะได้ซื้อในราคาที่สูงขึ้น การกระทำเช่นนี้ก็จัดว่าอยู่ในความหมายของ “อัลนาญิช” ทำนองเดียวกันการที่ผู้ขายกล่าวว่าฉันจะไม่ขายยกเว้นราคาเท่านั้นเท่านี้ แต่จริงๆ แล้วหากได้สูงกว่าราคาจริงเพียงเล็กน้อยเขาก็ขาย เช่น ราคาจริงอยู่ยี่สิบบาท (ก็ได้กำไรและพอใจจะขาย) แต่กลับทำทีกล่าวว่าหากไม่ได้ห้าสิบบาทก็จะไม่ขาย ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะไม่ขายจริงๆ หากแต่ต้องการหลอกผู้ซื้อให้ซื้อสูงกว่ายี่สิบบาทเท่านั้นเอง การกระทำเช่นว่านี้ นักวิชาการจัดว่าเป็นลักษณะหนึ่งของ “อัลนาญิช” ซึ่งต่างจากการที่ผู้หนึ่งต้องการขายสินค้าของเขาในราคาห้าสิบบาทตั้งแต่ต้น และหลังจากที่ลูกค้าต่อรองเขาก็ลดให้ภายหลัง อย่างนี้เป็นลักษณะการค้าทั่วไปที่อนุญาต
รูปแบบที่สาม คือความเสียหายของผู้ที่ไม่ประสาในเรื่องการซื้อโดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจในผู้ขายเป็นที่ตั้ง เรียกตามที่ปรากฏในตัวบทว่า “อัลมุสตัรสิ้ล” หากผู้ขายเอาเปรียบผู้ซื้อประเภทดังกล่าวจนเกินไป และผู้ซื้อทราบความจริงภายหลังว่าถูกหลอก เขาย่อมมีสิทธิยกเลิกการซื้อขายนั้นได้ เพราะมีบางรายงานระบุว่า
غَبْنُْالمُسْتَرْسِلِ رِبَا
“(สิ่งที่ได้มาโดยการ) หลอกผู้ที่เชื่อใจ (ตน) ถือเป็นดอกเบี้ย” [5]
การหลอกแน่นอนเป็นเรื่องต้องห้ามและเป็นวิธีการโกงผู้ซื้ออีกลู่ทางหนึ่ง
การซื้อขายอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมกันโดยทั่วไปคือ เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดนำสินค้ามาสู่ตลาด พ่อค้าทั้งหลายก็รวมหัวกันส่งคนไปต่อรองเพียงคนเดียวด้วยการกดราคาให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฝ่ายผู้ขายก็เห็นว่าไม่มีพ่อค้าคนอื่นสนใจเลยหากปล่อยไว้นานสินค้าก็อาจเสียหายได้ จึงจำใจขายในราคาที่ต่ำเกินจริง ส่วนพ่อค้าที่ซื้อสินค้าไปก็นำมาแบ่งกันภายหลัง การกระทำเช่นนี้ผิดต่อหลักการศาสนา และหากผู้ขายทราบภายหลักว่าถูกหลอกเขาก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะยกเลิกการค้านั้นหรือไม่ หรือจะเรียกร้องราคาที่เหมาะสมได้ในภายหลัง
รูปแบบที่สี่ หากมีการปกปิดอำพรางสินค้า เช่น ตกแต่งด้านหน้าของสินค้าให้ดูดีแต่ซ่อนของไม่ดีไว้ด้านล่างหรือด้านใต้ และหากเป็นรถยนต์ก็พนสีให้ดูดีและใหม่ แต่ตัวถังผุและเป็นสนิม การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการหลอกลูกค้าให้หลงเชื่อจนซื้อสินค้าดังกล่าวในราคาที่สูงเกินจริง หากผู้ซื้อทราบภายหลังว่าถูกหลอกเขาย่อมมีสิทธิ์ยกเลิกการค้านั้นได้ในภายหลัง การหลอกประเภทนี้เรียกว่า “อัตตัดลีส” ซึ่งมาจากคำว่า “ดะละสะห์” ซึ่งหมายถึงความมืด ฉะนั้นการ “ตัดลีส” คือการทำให้สินค้าไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ผู้ซื้อ การหลอกลักษณะดังกล่าวมักเป็นได้สองทางคือ
ปกปิดข้อบกพร่อง
ตกแต่งให้ดูดี
การกระทำลักษณะดังกล่าวถือว่าต้องห้าม และศาสนาก็ให้สิทธิ์แก่ผู้ซื้อที่ถูกหลอกด้วยวิธีการดังกล่าว ยกเลิกการค้านั้นได้ในภายหลัง เพราะเขาจ่ายทรัพย์ไปก็เพราะเห็นว่าสินค้านั้นดีไม่ข้อเสียหายอะไร แต่เมื่อซื้อแล้วพบว่าผู้ขายปิดบังอำพรางสินค้านั้นหรือตกแตกมันให้ดูดีเกินจริง
ตัวอย่างการตกแต่งสินค้าอีกรูปแบบหนึ่งที่เคยมีมาตั้งแต่อดีตคือ การไม่รีดนมสัตว์เลี้ยง (แพะ แกะ วัว ควาย ฯ ) กล่าวคือปล่อยให้นมคัดเต้า แล้วจึงนำสัตว์ไปขายเพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ซื้อเห็นว่าสัตว์ดังกล่าวมีน้ำนมมาก แท้ที่จริงแล้วมันเกิดจากการที่ผู้ขายไม่ยอมรีดหรือให้ลูกมันดูดกินต่างหาก การกระทำเช่นนี้ก็จัดได้ว่าเป็นการ “ตัดลีส” อีกรูปแบบหนึ่ง
ประการที่ห้า สินค้ามีตำหนิ กล่าวคือผู้ขายไม่ยอมบอกผู้ซื้อว่าสินค้าของตนมีตำหนิอะไร หรือบางทีผู้ขายก็ไม่ทราบก่อนเช่นกันว่าสินค้าของตนมีข้อตำหนินั้น เมื่อผู้ซื้อพบว่าสินดังกล่าวมีตำหนิหลังจากซื้อไปแล้ว ผู้ซื้อมีสิทธิ์ที่จะคืนสินค้านั้นหรือบอกเลิกการซื้อขายนั้น แต่ถ้าไม่ติดใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลักเกณฑ์ของตำหนิคือต้องส่งผลต่อราคาของสินค้านั้นหรือตัวของสินค้านั้นมีประโยชน์ลดลง ในส่วนของตำหนิที่ส่งผลต่อราคาสินค้านั้น ผู้ค้าขายทั่วไปมักทราบดี หากตำหนิไม่ส่งผลทั้งทางด้านราคาและประโยชน์ สิทธิ์ในการเลือกที่จะคืนสินค้าหรือยกเลิกการค้านั้น หรือรับสิ่งชดเชยก็ตกไป สิทธิ์ในการเลือกลักษณะที่ห้าเรียกตามภาษาอหรับว่า “คิยารุ้ลอัยบ์”
ประการที่หก หากผู้ซื้อบอกกับผู้ขายว่าเขาขายสินค้าให้ในราคาทุน คือซื้อมาในราคาเท่าใดก็ขายให้ในราคานั้น แต่ผู้ซื้อทราบภายหลังว่ามันไม่จริงตามที่ผู้ขายอ้าง สิ่งนี้เรียกตามภาษาอหรับว่า “คิยารุ้ลตัคบีริบิษษะมัน” ซึ่งอาจเป็นไปได้สี่รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่งคือตามที่กล่าวแล้ว
สอง ผู้ขายชวนผู้ซื้อร่วมทุน
สาม ผู้ขายระบุต้นทุนว่าเท่านี้และต้องการำไรเท่านี้แก่ผู้ซื้อ
สี่ ผู้ขายระบุว่าต้นทุนเท่านี้และขายลดราคาให้เท่านี้
ทั้งสี่รูปแบบที่กล่าวนั้น หากผู้ขายบอกผิดไปจากต้นทุนจริงที่ซื้อมา ผู้ซื้อก็มีสิทธิ์เลิกการซื้อขายนั้นหรือจะคงการซื้อขายไว้ก็ได้ ข้อวินิจฉัยนี้เป็นขอวินิจฉัยหนึ่งของปราชญ์ อีกข้อวินิจฉัยหนึ่งคือผู้ซื้อไม่มีสิทธิ์ดังกล่าว กล่าวคือแม้จะทราบภายหลังว่าผู้ขายมิได้บอกราคาต้นทุนจริง ผู้ซื้อก็ไม่ได้รับสิทธิ์ที่จะเลือกยกเลิกการซื้อขายนั้น
ประการที่เจ็ด ในกรณีที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องราคา สินค้า เวลาส่งมอบ และ ฯลฯ ทั้งคู่ต้องสาบานต่ออัลลอฮ์ตามที่ตนอ้าง (ในกรณีที่เป็นมุสลิมทั้งคู่) หลังจากกล่าวคำสาบานแล้ว แต่ละฝ่ายก็มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกการซื้อขายนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังไม่พอใจในคำสาบานนั้นๆ
ประการที่แปด หากผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าตามที่ตนเคยเห็นตัวอย่างมาก่อนหน้านั้น แล้วพบว่าสิ่งที่ซื้อมาไม่ตรงตามตัวอย่างที่เคยเห็น ผู้ซื้อมีสิทธิ์ที่จะบอกเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้นหรือให้ผู้ขายเปลี่ยนสินค้าให้ตรงตามตัวอย่าง
สินค้าที่ยังมิได้ครองสิทธิ์เต็มและการยินยอมเลิกข้อตกลงซื้อขาย
ในบทนี้จะได้พูดถึงสินค้าที่ผู้ซื้อยังไม่ได้ครองสิทธิ์ ผู้ซื้อจะสามารถจัดการกับมันได้หรือไม่อย่างไร เช่น โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นหรือขายมันต่อให้ผู้อื่น
เป็นที่ทราบดีและชัดเจนในหมู่นักวิชาการว่า ผู้ซื้อไม่อาจจัดการใดๆ ในลักษณะเป็นเจ้าของสินค้านั้น หากสินค้านั้นอยู่ในประเภทต้องชั่ง ตวง วัด และนับ กล่าวคือจะนำไปขายต่อ โอนกรรมสิทธิ์ หรือการกระทำใดๆ ในลักษณะเป็นเจ้าของมิได้ ข้อตัดสินนี้เป็นเรื่องเอกฉันท์ในหมู่ปวงปราชญ์ ซึ่งเรียกว่า “อิจมาอ์” และหากสินค้านั้นมีลักษณะอื่นจากที่กล่าวแล้ว มุมมองที่ถูกต้องและแข็งแรงของปราชญ์ถือว่าสินค้าอื่นจากลักษณะที่กล่าวมาอยู่ในวิสัยต้องห้ามเช่นกัน ทั้งนี้เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุฮะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวไว้ว่า
مَنْ ابْتَاعَ طَعَامًا فَلاَ يَبِعْهُ حَتَّى يَسْتَوْفِيَهُ
“ผู้ใดที่ซื้ออาหาร เขาอย่าได้ขายมันจนกว่าเขาจะครอบครองมันครบถ้วน” [6]
อีกกระแสหนึ่งมีสำนวนว่า
حَتَّى يَقْبِضَهُ
“จนกว่าจะได้จับต้องมัน”[7]
อีกสำนวนหนึ่งมีว่า
حَتَّى يَكْتَالَهُ
“จนกว่าจะได้ตวงมัน” [8]
ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า “ฉันไม่คิดว่าสิ่งอื่นจะแตกต่างไปจากอาหาร สิ่งดังกล่าวก็เหมือนอาหาร (คือต้องห้ามเช่นกัน)”[9]
ในบันทึกของอิหม่ามอะห์หมัดมีดังนี้
فَإِذَا اشْتَرَيْتَ بَيْعًا فَلاَ تَبِعْهُ حَتَّى تَقْبِضَهُ
“หากท่านซื้ออะไรแล้ว อย่าได้ขายมันไปจนกว่าจะได้จับต้องมัน” [10]
ในบันทึกของอบูดาวูดมีดังนี้
نَهَى أَنْ تُبَاعَ السِّلَعُ حَيْثُ تُبْتَاعُ حَتَّى يَحُوزَهَا التُّجَّارُ إِلَى رِحَالِهِمْ
“(ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ห้ามมิให้ขายสินค้า ณ สถานที่ๆ ซื้อสินค้าจนกว่าพ่อค้าจะนำมันกลับไปที่พักของพวกเขาเสียก่อน” [11]
มุสลิมทุกคนต้องตระหนักให้ดีในเรื่องดังกล่าว เพราะมีตัวบทหลักฐานแน่นหน้าและชัดเจนจนไม่อาจจะตีความเป็นอื่นได้ ผู้หนึ่งผู้ใดอย่าได้ขายสิ่งที่เขายังมิได้จับต้องมันหรือยังมิได้ครอบครองมันโดยสมบูรณ์ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการกระทำลักษณะดังกล่าว แต่ผู้คนส่วนใหญ่ดูเหมือนไม่ใส่ใจต่อข้อห้ามนั้น ยังมีการซื้อขายในลักษณะดังกล่าวกันดาษดื่น เช่น บางคนซื้อของยังมิทันที่จะเอามาจากผู้ขาย เขาก็นำมันไปขายต่อเสียแล้ว หรือบางทีก็นำกลับมาเพียงบางส่วน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นครอบครองโดยสมบูรณ์ตามที่ปรากฏในหะดีษ บางทีก็ใช้วิธีนับถุง นับกล่อง หรือนับกองไว้ ซึ่งของก็ยังอยู่ ณ ผู้ขาย แต่ผู้ซื้อก็ขายมันต่อไปเสียแล้ว วิธีนี้มิใช่การครอบครองที่สมบูรณ์เช่นกัน
หากมีผู้ตั้งคำถามว่าการครอบครองที่สมบูรณ์ ที่ผู้ซื้อสามารถจะนำสินค้าหรือสิ่งที่ได้ซื้อแล้วขายต่อ โอนกรรมสิทธิ์ หรือจัดการกับมันได้ตามต้องการ นั้นต้องทำอย่างไร คำตอบก็คือ สินค้าแต่ละชนิดและแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการครอบครองที่สมบูรณ์ต่อสิ่งหนึ่งๆ มีความแตกต่างกันไป เช่น สิ่งที่ซื้อขายกันด้วยวิธีตวง ก็ต้องตวงให้เรียบร้อยและรับมันมาครอบครอง มิใช่ปล่อยไว้กับผู้ขายแล้วประกาศขายสินค้านั้น และหากต้องชั่งก็ต้องชั่งให้สมบูรณ์ตามที่ตกลงกันพร้อมรับมาครอบครองโดยสมบูรณ์ สิ่งอื่นๆ ก็ต้องปฏิบัติให้สมบูรณ์และชัดเจนเช่นกัน เช่น แก้วแหวน เครื่องเงิน หรือเครื่องทอง ก็ต้องจับต้องครองไว้เป็นของตน รถยนต์ก็ต้องขับกลับบ้าน ในกรณีของสิ่งที่เคลื่อนย้ายมิได้ ผู้ขายก็ต้องมอบสิทธิ์นั้นแก่ผู้ซื้อ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น มอบเอกสารสิทธิ์ หากเป็นบ้านก็มอบกุลแจ เปิดประตู (ไม่ปิดลอกอะไรไว้) อย่างนี้เป็นต้น
หะดีษต่างๆ ที่กล่าวถึงแล้วนั้น เป็นหลักฐานชัดเจนว่าห้ามขายสินค้าหรือสิ่งใดๆ ที่ซื้อแล้วแต่ยังมิได้ครอบครองโดยสมบูรณ์ รวมถึงห้ามทำธุรกรรมใดๆ ต่อสิ่งที่ยังมิได้ครอบครองด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการขัดแย้ง โต้แย้ง หรือป้องกันความสูญเสียใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นการรักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายก็ตาม
ส่วนการยินยอมเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้นปรากฏในหะดีษดังนี้
مَنْ أَقَالَ مُسْلِمًا أَقَالَهُ اللَّهُ عَثْرَتَهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ
“ผู้ใดยอมยกเลิก (การขาย) ต่อมุสลิม อัลลอฮ์ก็จะยกเลิกความลำบากของเขาในวันกิยามะห์” [12]
กรณีที่มีผู้ซื้อของหรือสินค้าไปแล้ว แต่ต้องการบอกเลิกการซื้อขายนั้น คือหลังจากที่การค้าขายเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว การบอกเลิกนี้จะมาจากสาเหตุใดก็แล้วแต่ หากผู้ขายยินยอมโดยไม่เรียกเก็บค่าเสียหายใดๆ จากผู้ซื้อ ท่านนบีบอกว่าในวันกิยามะห์อัลลอฮ์ก็จะผ่อนปรนความลำบากต่างๆ แก่เขา ดังนั้นหากผู้ใดต้องการคืนสินค้าหรือสิ่งที่ซื้อไปแล้ว ด้วยเหตุผลใดๆ ที่ไม่อาจนำมาเป็นเหตุยกเลิกการค้าขายนั้นได้ โปรดขอร้องพี่น้องของเขาด้วยการเจรจาที่ดีๆ ส่วนผู้ที่ถูกขอร้องหากไม่เสียหายจนเกินไปก็โปรดยินยอมยกเลิกการซื้อขายนั้นเสีย เพราะอย่างน้อยเขาก็จะได้รับการผ่อนปรนมิให้ลำบากนักในวันกิยามะห์ จากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการกล่าวถึงข้อบัญญัติในเรื่องการซื้อขาย ซึ่งเป็นการกล่าวลักษณะสรุปเท่านั้น หากต้องการศึกษาละเอียดกว่านี้คงต้องเขียนเป็นตำราเล่มโต อย่างไรก็ดีสิ่งที่นำเสนอนี้มีประสงค์เพียงเป็นคู่มือการบรรยาย ผู้ที่สามารถจะเข้าใจได้ดีนั้นต้องฟังคำบรรยายด้วย เพราะมีคำหรือความหลายวรรคหลายตอน มีความหมายเฉพาะในวิชาฟิกห์ ดังนั้นผู้ใดอ่านแล้วเกิดข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจก็สามารถสอบถามได้ระหว่างการบรรยายหรือหลังบรรยายก็สุดแท้แต่ ผู้เขียนหวังว่าในโอกาสต่อๆ ไปหากมีผู้สนใจจะศึกษาลงลึกในรายละเอียด ผู้เขียนจะได้ทำเป็นตำราที่สมบูรณ์โดยมีรายละเอียดครบถ้วนมากกว่านี้ อินชาอัลลอฮ์
อิสฮาก พงษ์มณี
28 มิถุนายน 2550 (วันที่เขียนจบ)
[1] มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1519, อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ์ / 1221, และท่านอื่นๆ
[2] อัลมุลัคค็อศ อัลฟิกฮี่ อัลเฟาซาน / 333
[3] ฮาชิยะตุรเราฎุ้ลมุร๊อบบะอ์ 4/434
[4] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2033, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1515, และท่านอื่นๆ
[5] อัลบัยฮะกี 5/349,ฮาฟิศอิรอกีกล่าวว่าเป็นสายรายงานทีดี ตัครีจญ์เอี๊ยห์ยาอ์ หะดีษที่ 1601, อัฏฏอบรอนี ฟิ้ลกะบีร
, อัลบานีกล่าวว่าเป็นรายงาน “ฎ่ออีฟ” 2/118
[6] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2019, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ 1526, และท่านอื่นๆ
[7] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2026, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ 1526, และท่านอื่นๆ
[8] มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1525
[9] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2135, มุสิลม อัลบุยั๊วอ์ / 3815
[10] อะห์หมัด 3/402, อันนะซาอี่ อัลบุยั๊วอ์ / 4603
[11] อบูดาวูด บุยั๊วอ์ / 3499
[12] อบูดาวูด อัลบุยั๊วอ์ / 3460, อิบนุมาญะห์ อัตติญาร๊อต / 2199 (สำนวนนี้อยู่ในบันทึกของอิบนุมาญะห์), อะห์หมัด
2/252