มาทบทวน มาเรียนรู้ และรู้จักกับ ชีวประวัติ
เชค มุฮัมมัด อิบนุ อับดิลวะฮฮาบ
แปลและเรียบเรียงโดย : อ. มุนีร มุฮัมหมัด
เชคมุฮัมมัด เป็นบุตรของอับดุลวะฮฮาบ บุตรของสุไลมานบุตรของอาลี บุตรของมุฮัมมัด บุตรของอะห์มัด บุตรของรอชิด บุตรของบุรอยด อัตตะมีมีย์ อันนัจดีย์ ท่านสืบเชื้อสายมาจากเผ่าตะมีมแห่งแคว้นนัจญด บรรดานักประวัติทางสายพันธุ์ต่างลงความเห็นว่า ตระกูลตะมีมเป็นลูกหลานของ
อิลยาส บุตรมุฎ็อร โดยเหตุนี้ ทำให้เชื้อสายของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซั้ลลัม ไปบรรจบที่อิลยาส อิบนุมุฎ็อรปู่ลำดับที่ 16ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซั้ลลั้ม
เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลวะฮฮาบ เกิดในปี ฮ ฺศ 1115 /ค ฺศ 1703 ณ
เมืองอุยัยนะฮ ในหุบเขาฮะนีฟะฮ ซึ่งอยู่ในตอนเหนือของแคว้นนัจญ์ด และทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอัรริยาฎ เมืองอุยัยนะฮในสมัยนั้นมีสองตระกูล ตระกูลที่มีอำนาจในการปกครองได้แก่ ตระกูลมุอัมมัร อีกตระกูลหนึ่งเป็นตระกูลทางด้านวิชาการและทางศาสนา คือตระกูลมุชัรร็อฟ ซึ่งเป็นตระกูลที่ เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลวะฮฮาบสังกัดอยุ่ บิดาของท่านเป็นตุลาการอยู่ในเมืองอุยัยนะฮ และเป็นนักวิชาการฟิกฮ์ตามแนวทางของอิหม่ามอะห์มัด อิบนุฮัมบัล ขณะเดียวกันท่านก็ทำการสอนวิชาฟิกฮ์และฮะดีสให้แก่ผู่ที่สนใจในเมืองอุยัยนะฮ ทั้งในมัสยิดและในบ้าน แต่ทว่า การศึกษาในสมัยนั้น ยังไม่เป็นระบบเช่นปัจจุบัน
เชคอับดิลวะฮฮาบมีบุตร 2คน คือ มุฮัมมัดและสุไลมาน
อัลลอฮ์ทรงเปิดหัวใจให้มุฮัมมัด ได้มีความรู้แตกฉานจนได้รับฉายานามว่า
” ชัยคุลอิสลาม ” เป็นผู้ฟื้นฟูการเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง และทำการปฎิรูปสังคมมุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ในแคว้นนัจญ์ด ซึ่งต่อมาก็ได้แผ่ขยายออกไปทั่วคาบสมุทรอาหรับ และกลุ่มประเทศอิสลาม การเผยแพร่อิสลามของเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลวะฮฮาบเป็นการเผยแพร่ในแนวทางสะลัฟ โดยยึดในแนวทางมัสฮับฮัมบาลีย์ทางด้านฟิกฮ์ และแนวทางอัลกุรอานและซุนนะฮ ทางด้านอะกีดะฮ ส่วนสุไลมานเป็นนักวิชาการ ดำรงตำแหน่งตุลาการในเมืองหุร็อยมิลาอ
การเจริญวัย
เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลวะฮฮาบ เติบโตในบ้านแห่งวิชาการ และมีความเคร่งครัดในศาสนา บิดาของท่านได้ทำหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูท่าน ท่านได้สั่งสอนวิชาศาสนาและภาษาอาหรับให้แก่ท่าน และฟิกฮ์แนวทางอิหมามอะฮ์มัด อิบนุฮัมบัล ท่านเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความจำเป็นเลิศ โดยท่านท่องจำอัลกุรอานได้จบเล่มเมื่อมีอายุได้ 10ปี ท่านอ่านหนังสือทุกวิชาที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือฟิกฮ์ หนังสือตัฟซีร หนังสือฮะดีส เฉพาะอย่างยิ่งตำราที่เขียนโดยชัยคตะกียุดดีน อิบนุ ตัยมียะฮ และตำราของลูกศิษย์ของท่าน คือ อิบนุ ก็อยยิม อัลเญาซียะฮ ทำให้อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเปิดหัวใจให้แก่ท่าน ทำให้ท่านมีความเข้าใจหลักเตาฮีดที่ถูกต้อง และหลักการที่ตรงกันข้ามกับเตาฮีด จึงทำให้ท่านเป็นหนึ่งที่ได้รับการจารึกชื่อ ร่วมกับอิหม่ามอะฮ์มัด อิบนุฮัมบัล ซึ่งได้รับฉายานามว่า
“นาซิรุซซุนนะฮ “- ผู้สนับสนุนซุนนะฮ “
อิหม่าม ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮ และอิหม่าม อิบนุก็อยยิม อัลเญาซียะฮ ซึ่งอยู่ในบรรดานักปฏิรูปและนักเผยแพร่ในประวัติศาสตร์อิสลาม
การเดินทางแสวงหาความรู้
เชคอับดุลวะฮฮาบ ทราบดีถึงความต้องการของบุตรชายของท่าน คือ เชคมุฮัมมัด ในการแสวงหาวิชาความรู้เพิ่มเติม ท่านจึงอนุญาตให้ท่านชัยค
มุฮัมมัดออกเดินทางไปเพื่อแสวงหาวิชาความรู้โดยที่ท่านได้เดินทางไปยังเมืองมักกะฮเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ แล้วเดินทางต่อไปยังเมืองมะดีนะห์ และพำนักอยู่ที่นั้นเพื่อแสวงหาวิชาความรู้ อาจารย์คนสำคัญของท่านได้แก่ เชคมุฮัมมัด หะยาต อัซซินดีย์ อัลมะดะนีย์ ผู้เขียนคำอธิบายโดยสรุปในหนังสือเศาะฮีหฺอิหม่ามอัลบุคอรีย์ แล้วท่านก็เดินทางกลับเมืองอุยัยนะฮ์ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางไปยังเมืองบัศเราะฮ โดยติดต่อกับนักวิชาการในเมืองนั้น และได้มีการอภิปรายกันเกี่ยวกับรากฐานทางอะกีดะฮและเตาฮีด ในที่สุดท่านก็ต้องจำใจออกมาจากเมืองนั้น โดยเดินทางไปยังเมืองอะห์ซาอ์ ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของเหล่านักวิชาการและนักปราชญ์ ซึ่งท่านได้รับความรู้อย่างมากมายจากบรรดานักวิชาการเหล่านั้น ต่อจากนั้น ท่านก็เดินทางต่อไปยังเมืองหุรอยมิลาอ ซึ่งบิดาของท่านได้อพยพไปอาศัยอยู่ในเมืองนี้
ระหว่างที่ท่านอยู่ในเมืองหุรอยมิลาอ ท่านได้พบปะกับผู้คนและได้เห็นขนบธรรมเนียมทางด้านสังคมและหลักความเชื่อถือศาสนาที่ผิดๆ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกับเมืองอืนๆในแคว้นนัจญ์ด ท่านจึงตั้งใจที่จะแก้ไขหลักการศรัทธาของชาวเมืองให้ถูกต้องพร้อมกับเรียกร้องให้ยึดมั่นในแนวทางคัมภีร์อัลกุรอานและสุนนะฮ์ของท่านร่อซู้ล صلى الله عليه وسلم ท่านได้นำเสนอทัศนะ ได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกับท่านเหล่านั้น ท่านคัดค้านท่าทีของนักวิชาการที่นิ่งเฉย โดยไม่ต่อต้านการกระทำที่เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮ์) และการกระทำชิริก แต่พวกเขาไม่ตอบสนองคำเรียกร้องของเชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลวะฮฮาบ เพราะกลัวการกลั่นแกล้งของเหล่าบรรดาผู้ปกครอง ซึ่งพวกเขาต้องการที่จะรักษาประเพณีเดิมเอาไว้ โดยไม่ยอมรับการพัฒนาและแก้ไขให้ถูกต้อง
จรรยามารยาทของท่าน
เชคมุฮัมมัด อิบนุ อับดิลวะฮฮาบ เป็นผู้มีจริยธรรมที่ดีงาม มีความสนใจในการอ่านตำรา พูดจาฉะฉานเป็นผู้ที่มีเหตุผล มีหลักการในการหาหลักฐานมายืนยัน เมื่อมีการอภิปรายและโต้แย้งกัน
ท่านอุทิศชีวิตของท่านไปในการเผยแผ่ศาสนาอิสลามด้วยความบริสุทธิ์ใจและด้วยความจริงจัง ท่านมีความมั่นใจในความรู้ของท่าน หลังจากที่ท่านได้ท่องจำอัลกุรอาน ท่านได้ให้ความสนใจในการศึกษาตำราของบรรดานักวิชาการผู้ปฏิรูปจำนวนมาก จึงทำให้ท่านมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความจำเป็นจะต้องทำการพัฒนาทางด้านความคิดและขจัดสิ่งที่เป็นอุตริกรรมและสิ่งไร้สาระออกไปจากคาบสมุทรอาหรับ
ด้วยความกล้าหาญ การมีความฉลาดและไหวพริบของท่าน ทำให้บรรดานักวิชาการและผู้นำในสำนักต่างๆไม่อาจเอาชนะท่านได้ในทุกครั้งที่มีการอภิปรายกัน ทำให้นักศึกษาและผู้แสวงหาความรู้ตามแนวทางสะลัฟให้การสนับสนุนท่าน จึงทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรกระจายไปทั่วคาบสมุทรอาหรับและในโลกอิสลามในฐานะเป็นผู้ปฏิรูปและการเรียกร้องเชิญชวนบรรดามุสลิมให้กลับมายึดมั่นในคำสอนของอิสลามที่ถูกต้องจากอัลกุรอานและซุนนะฮของท่านร่อซู้ล صلى الله عليه وسلم
แปลและเรียบเรียงโดย:อ.มุนีร มุฮัมหมัด
อ้างอิง :วารสารดาริสสลาม เล่มที่18