สรุป บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย – مُلَخَّصُ كِتاَبِ الْبُيُوْعِ
รวบรวมและเรียบเรียง จากหนังสือ “อัลมุลักค๊อศอัลฟิกฮี่”
ของฟะฎีละตุ้ชเชค ศอและห์ อิบนุ เฟาซาน อัลเฟาซาน
(สมาชิกสภาอุละมาอาวุโส ประเทศซาอุดิอาราเบีย)
โดย อิสฮาก พงษ์มณี (ตอนที่ ๒)
เงื่อนไขสำคัญในการซื้อขาย
การซื้อขายจะถือว่าถูกต้องตามหลักการศาสนานั้น ต้องครบเงื่อนไขต่างๆ ที่ศาสนากำหนด เงื่อนไขบางส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ซื้อผู้ขาย บางส่วนเกี่ยวกับสิ่งที่ซื้อที่ขาย หากการซื้อขายนั้นขาดเงื่อนไขหนึ่งเงื่อนไขใด การซื้อขายนั้นถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนา (ไม่เศ๊าะห์)
เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับผู้ซื้อผู้ขาย
เงื่อนไขที่หนึ่ง ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย การซื้อขายใดๆ หากมีการบังคับหรือถูกฝืนใจให้ขายโดยมิชอบ การซื้อขายนั้นๆ ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนา (หรือที่เรียกตามภาษาปากบ้านเราว่าไม่เศ๊าะห์) แต่หากถูกบังคับให้ขายโดยชอบ การซื้อขายนั้นย่อมถือว่าถูกต้อง เช่น ศาลตัดสินให้ขายทอดตลาด อย่างนี้เป็นต้น อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
(إِلاَّ أَنْ تَكُوْنَ تِجَارَةً عَنْ تَرَاضٍ مِنْكُمْ)
“ยกเว้นเป็นการซื้อขาย (ที่เกิดขึ้น) จากความพึงพอใจของพวกเจ้า” [1]
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
(إِنَّمَا الْبَيْعُ عَنْ تَرَاضٍ)
“แท้จริงการซื้อขายต้องเกิดจากความพึงพอใจเท่านั้น”[2]
ทั้งนี้หากเป็นการบังคับให้ขายโดยชอบ การขายนั้นก็ถือว่าถูกต้อง เช่น ศาลหรือผู้มีอำนาจออกคำสั่งให้ขายทอดตลาด ตามที่กล่าวแล้ว
เงื่อนไขที่สอง ผู้ซื้อผู้ขายต้องอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ กล่าวคือต้องเป็นไท (ไม่ตกอยู่ในสภาพเป็นทาส) ต้องอยู่ในเกณฑ์บังคับ (บรรลุศาสนภาวะ) หรือจำแนกแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีได้ (มีสัมปชัญญะครบถ้วน) ดังนั้นการซื้อขายของเด็ก คนสติไม่สมบูรณ์ คนบ้า หรือทาสจึงถือว่าไม่ถูกต้อง (ไม่เศ๊าะห์) ในกรณีของเด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะแต่สามารถแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีได้รวมถึงกรณีทาส มีรายเอียดอีกหลายประการ ซึ่งขอเว้นจะกล่าวในที่นี้ ส่วนหลักฐานในเงื่อนไขที่สองนี้ได้จากการวิเคราะห์หลักการอื่นๆ ประกอบ ซึ่งต้องการคำอธิบายค่อนข้างยืดยาว ดังนั้นจึงขอเว้นที่จะไม่กล่าวถึงเช่นกัน
เงื่อนไขที่สาม ผู้ซื้อผู้ขายต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่จะแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันหรือได้รับมอบหมายโดยชอบจากผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวไว้ในรายงานของฮะกีม อิบนุ ฮิซาม ว่า
(لاَ تَبِعْ مَا لَيْسَ عِنْدَكَ)
“อย่าได้ขายสิ่งที่ไม่มีอยู่ ณ ที่เจ้า”[3]
หมายถึง อย่าได้ขายสิ่งที่เจ้ามิได้ครอบครองเป็นเจ้าของ หรือยังมิได้ครองสิทธิ์ในสิ่งนั้น “นักวิชาการต่างเห็นพ้องต้องกันว่าห้ามขายสิ่งที่ผู้ขายยังไม่มีหรือยังมิได้ถือครองสิทธิ์ และหากกระทำไปดังว่านี้ก็ถือว่าการซื้อขายนั้นโมฆะ”
เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ซื้อขาย
เงื่อนไขที่หนึ่ง ต้องเป็นสิ่งที่อนุมัติ(ตามหลักการศาสนา)ให้ใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นจึงไม่อนุญาตซื้อขายสิ่งที่ศาสนาห้ามนำไปใช้ประโยชน์ เช่น สุรา สุกร ซากสัตว์ที่มิได้เชือดตามหลักการ และรวมถึงอุปกรณ์ดนตรีต่างๆ เป็นต้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวไว้ว่า
إِنَّ اللَّهَ وَرَسُوْلَهُ حَرَّمَ بَيْعَ الْخَمْرِ وَالْمَيْتَةِ وَالْخِنْزِيْرِ وَاْلأَصْنَامِ
“แท้จริงอัลลอฮ์และร่อซู้ลของพระองค์ ห้าม (ซื้อ) ขายสุรา ซากสัตว์ (ที่ตายโดยมิได้เชือดตามหลักการศาสนา) สุกร และเจว็ด” [4]
ท่านกล่าวอีกว่า
إِنَّ اللَّهَ حَرَّمَ الْخَمْرَ وَثَمَنَهَا وَحَرَّمَ الْمَيْتَةَ وَثَمَنَهَا وَحَرَّمَ الْخِنْزِيْرَ وَثَمَنَهُ
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงห้ามสุราและราคาของมัน ทรงห้ามซากสัตว์ (ที่ตายโดยมิได้เชือดตามหลักการศาสนา) และราคาของมัน ทรงห้ามสุกรและราคาของมัน” [5]
มีผู้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า
أَرَأَيْتَ شُحُوْمَ الْمَيْتَةِ فَإِنَّهَا يُطْلَى بِهَا السُّفُنُ وَيُدْهَنُ بِهَا الْجُلُوْدُ وَيَسْتَصْبِحُ بِهَا النَّاسُ فَقَالَ لاَ هُوَ حَرَامٌ
“ท่านเห็นอย่างไรเกี่ยวกับไขมันสัตว์ที่ตาย (โดยมิได้เชือดตามหลักการศาสนา) ซึ่งมันถูกนำไปทาเรือ ทาหนัง และคนนำไปจุดไฟให้แสงสว่าง ท่านกล่าวว่า ไม่ได้ มันคือสิ่งที่ต้องห้าม”[6]
เงื่อนไขที่สอง เกี่ยวข้องกับราคาและสิ่งที่นำมาซื้อขาย (สินค้า) ว่าต้องเป็นสิ่งที่สามารถส่งมอบแก่กันและกันได้ เพราะสิ่งที่ไม่สามารถส่งมอบแก่กันและกันได้เปรียบได้กับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ดังนั้นจึงไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ (ซื้อขายไม่เศ๊าะห์) เช่น ซื้อขายทาสที่หนีไป อูฐที่หลุดไปด้วยความตื่นตระหนก นกที่บินอยู่ในอากาศ อย่างนี้เป็นต้น
เงื่อนไขที่สาม เกี่ยวข้องกับราคาและสิ่งที่นำมาซื้อขาย(สินค้า) ว่าต้องเป็นสิ่งที่ทราบชัดเจนระหว่างทั้งสองฝ่าย (ผู้ชื้อผู้ขาย) เพราะความไม่ชัดเจนก่อเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการซื้อขายสิ่งที่ไม่เห็นหรือเห็นแต่ไม่ทราบโดยละเอียดถือว่าไม่ถูกต้อง ทำนองเดียวกันการซื้อขายสัตว์ที่อยู่ในครรภหรือเพียงนมที่อยู่ในเต้าจึงไม่ถูกต้องเช่นกัน และการซื้อขายผ้าเพียงแค่สัมผัส กล่าวคือหากผู้ซื้อสัมผัสผ้าชิ้นใด ชิ้นนั้นก็ตกเป็นของผู้ซื้อ ก็เป็นการซื้อขายที่ไม่ถูกต้อง การกระทำดังกล่าวเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “อัลมุลาบะซะห์” ส่วน “อัลมุนาบะซะห์” หมายถึงผู้ขายโยนสินค้าให้กับผู้ซื้อสินค้านั้นก็ตกเป็นของผู้ซื้อ การกระทำดังกล่าวก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าท่านห้ามวิธีการดังกล่าว
أَنَّ رَسُوْلَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَهَى عَنْ الْمُلاَمَسَةِ وَالْمُنَابَذَةِ
“ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้าม (การซื้อขายลักษณะ) อัลมุลามะซะห์และอัลมุนาบะซะห์” [7]
ดังนั้นการซื้อขายลักษณะ “ฮุศ๊อด” ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน การซื้อขายลักษณะดังกล่าวคือมีการตั้งเงื่อนไขว่าหากโยนก้อนหินไปโดนสินค้าชิ้นใด ชิ้นนั้นก็ตกเป็นของผู้ซื้อ การซื้อขายลักษณะดังกล่าวมีตัวบทห้ามไว้เช่นกัน อ่านต่อ …
[1] อันนิซาอ์ / 29
[2] อิบนุมาญะห์ บทค้าขาย / 2185
[3] อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ์ / 1232, อันนะซาอี บทเดียวกัน / 4613 , อบูดาวูด บทเดียวกัน / 3503 และอิบนุ
มาญะห์ อันติญาร๊อต / 2183, ท่านอิหม่ามติรมิซีบอกว่าเป็นหะดีษศ่อเฮี๊ยห์
[4] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2121, มุสลิม อัลมุซาก๊อต 1581 และท่านอื่นๆ
[5] อบูดาวูด อัลบุยั๊วอ์ /3485
[6] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2121, มุสลิม อัลมุซาก๊อต / 1541 และท่านอื่นๆ
[7] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2040, อิบนุมาญะห์ อัตติญาร๊อต / 2170 และท่านอื่นๆ