พื้นฐานการซื้อขาย (ตอนที่ ๔)

12

สรุป บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย – مُلَخَّصُ كِتاَبِ الْبُيُوْعِ
รวบรวมและเรียบเรียง จากหนังสือ “อัลมุลักค๊อศอัลฟิกฮี่”
ของฟะฎีละตุ้ชเชค ศอและห์ อิบนุ เฟาซาน อัลเฟาซาน
(สมาชิกสภาอุละมาอาวุโส ประเทศซาอุดิอาราเบีย)
โดย อิสฮาก พงษ์มณี (ตอนที่ ๔)

เงื่อนไขในการซื้อขาย

เงื่อนไขในการซื้อขายนั้นอาจเกิดขึ้นมากมายหลายทาง ซึ่งผู้ซื้อผู้ขายอาจตั้งเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมจากเงื่อนไขทั่วๆ ไปซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของการซื้อขาย ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้และศึกษาให้ละเอียดเพื่อจะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ถูกต้องและเพื่อให้ทราบว่าเงื่อนไขใดถูกต้องตามหลักการศาสนาและเงื่อนไขใดไม่ถูกต้อง
นักวิชาการฟิกห์ให้นิยาม (ความหมาย)ของเงื่อนไขในการซื้อขายว่าหมายถึงข้อกำหนดของฝ่ายหนึ่งใช้บังคับอีกฝ่ายหนึ่งที่เกิดจากพันธะสัญญาที่ทำขึ้นโดยทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นพันธะสัญญาที่ก่อเกิดประโยชน์ เงื่อนไขใดๆ หากมิได้กระทำหรือระบุในพันธะสัญญานั้น เงื่อนไขนั้นๆ ไม่มีผล กล่าวคือต้องกระทำหรือระบุในข้อตกลงซื้อขายนั้นทันที ไม่อนุญาตให้ระบุก่อนหรือหลังเกิดการซื้อขายแล้ว เพราะเงื่อนไขมีสองประเภทคือถูกต้องและไม่ถูกต้อง

เงื่อนไขที่ถูกต้อง

เงื่อนไขใดๆ ที่ไม่ค้านต่อนัยของพันธะสัญญานั้น เงื่อนไขนั้นๆ ถือว่าถูกต้องและมีผลบังคับใช้ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

َالْمُسْلِمُونَ عَلَى شُرُوْطِهِمْ
“บรรดามุสลิม (ต้อง) อยู่บน (ปฏิบัติตาม) เงื่อนไขของพวกเขา (ที่ให้ไว้แก่กันและกัน)” [1]

ทั้งนี้เพราะมีหลักว่าเงื่อนไขใดๆ ถือว่าเป็นที่อนุมัติหากเงื่อนไขนั้นๆ ไม่ค้านต่อสาระสำคัญของพันธะสัญญานั้นๆ หรือที่มีตัวบทระบุว่าเป็นโมฆะ

            เงื่อนไขที่ถูกต้องแบ่งได้เป็นสองประเภทดังนี้

ประเภทที่หนึ่ง คือเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลดีต่อพันธะสัญญานั้นๆ เช่น การให้หลักประกันหรือของประกันแก่ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ซื้อ หรือตั้งเงื่อนไขว่าให้ชำระผ่อนส่งในเวลาที่แน่นอน ซึ่งก็เป็นผลดีต่อผู้ซื้อ อย่างนี้เป็นต้น หากเป็นเงื่อนไขประเภทดังกล่าว เงื่อนไขนั้นๆ ก็ถือว่าถูกต้องและต้องปฏิบัติตาม ทำนองเดียวกันหากผู้ซื้อตั้งเงื่อนไขว่าสินค้านั้นต้องเป็นประเภทชั้นดี หรือมีแหล่งผลิตจากที่นั่นที่นี่ จากผู้ผลิตคนนั้นคนนี้ เงื่อนไขเช่นว่านี้ก็ถูกต้องเช่นกัน เพราะความประสงค์ของผู้บริโภคย่อมแตกต่างกัน และหากสินค้านั้นตรงตามที่ระบุไว้ การซื้อขายย่อมเกิดขึ้น และหากไม่ตรงตามเงื่อนไขผู้ซื้อก็มีสิทธิ์ยกเลิกพันธะสัญญานั้น หรือปล่อยให้สัญญาดำเนินไปพร้อมกับรับค่าชดเชยจากเงื่อนไขที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของการลดราคาหรือเพิ่มปริมาณสินค้าให้ก็แล้วแต่จะตกลงกัน

ประเภทที่สอง คือการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตั้งเงื่อนไขเพื่อได้ประโยชน์จากสิ่งที่ขายแล้ว อันเป็นประโยชน์ที่ไม่ผิดต่อหลักการศาสนา เช่น ผู้หนึ่งขายบ้านแต่มีเงื่อนไขว่าขออยู่ต่อเป็นระยะเวลาหนึ่งที่แน่นอน หรือผู้หนึ่งขายรถแต่มีข้อแม้ว่าขอใช้ในระยะเวลาหนึ่งที่แน่นอน หากผู้ซื้อยินดี เงื่อนไขดังกล่าวก็ถือว่าถูกต้องและการซื้อขายดังกล่าวก็ถือว่าถูกต้อง เพราะในรายงานบทหนึ่งระบุว่าท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ซื้ออูฐของท่านญาบิรด้วยราคาสี่ดีนารโดยมีเงื่อนไขว่าให้ท่านญาบิรขี่หลังมันจนถึงมะดีนะห์ ตามรายงานดังกล่าวเป็นการระบุเงื่อนไขว่าหลังจากซื้อขายกันแล้ว ผู้ซื้ออนุญาตให้ผู้ขายใช้ประโยชน์จากสินค้านั้นในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งก็คือการใช้อูฐที่ขายแล้วนั้นเป็นพาหนะสู่เมืองมะดีนะห์[2] ยังมีตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันอีก เช่น ผู้ซื้อสินค้าประเภทหนึ่งตั้งเงื่อนไขว่าให้ผู้ขายส่งของถึงที่ หรือผู้ซื้อผ้าตั้งเงื่อนไขว่าให้ผู้ขายปักชื่อหรือลายดอกที่ระบุให้ อย่างนี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่มิได้ขัดต่อนัยของพันธะสัญญาหลักซึ่งก็คือการซื้อขายนั่นเอง ดังนั้นจึงเป็นเงื่อนไขที่ถูกต้อง

            เงื่อนไขที่ไม่ถูกต้องแบ่งได้หลายประเภท

ประเภทที่หนึ่ง คือเงื่อนไขที่ทำให้สัญญาซื้อขายนั้นเสียไป คือทำให้การซื้อขายนั้นไม่ถูกต้อง (ไม่เศ๊าะห์) เช่น ผู้ขายกล่าวแก่ผู้ซื้อว่าฉันขายสินค้านี้ให้แก่ท่านแต่ท่านต้องเช่าบ้านฉัน หรือกล่าวว่าฉันขายสินค้านี้ให้แก่ท่าน แต่ท่านต้องให้ฉันทำงานนั้นงานนี้กับท่าน หรือกล่าวแก่ผู้ซื้อว่าฉันขายสินค้านี้ให้แก่ท่านแต่ท่านต้องให้ฉันกู้เท่านั้นเท่านี้ เงื่อนไขเช่นว่านี้ไม่ถูกต้อง อีกทั้งทำให้การค้าขายดังกล่าวไม่ถูกต้องด้วยเช่นกัน เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการซื้อขายซ้อนการซื้อขาย[3] (กล่าวคือมีสัญญาซ้อนสัญญา)

ประเภทที่สอง คือเงื่อนไขที่เป็นโมฆะแต่เพียงลำพัง แต่ไม่ทำให้สัญญาซื้อขายนั้นต้องถูกยกเลิกไปด้วย เช่น ผู้ซื้อตั้งเงื่อนไขว่าหากซื้อสินค้าไปแล้วเกิดขาดทุนก็จะคืนสินค้านั้นแก่ผู้ขาย เช่นมีผู้ซื้อรถไปในราคาหนึ่งแสนบาท โดยตั้งใจว่าจะนำไปขายในราคาหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดสนใจยกเว้นในราคาหกหมื่นบาทเท่านั้น ผู้ซื้อจะนำมาคืนผู้ขายมิได้ และเงื่อนไขใดๆ ที่ตั้งไว้ก็ไม่เป็นผลในทางปฏิบัติ ส่วนการซื้อขายรถดังกล่าวก็มิต้องถูกยกเลิกแต่ประการใด อีกตัวอย่างหนึ่งคือผู้ขายตั้งเงื่อนไขว่าห้ามผู้ซื้อนำสิ่งที่ซื้อขายกันแล้วนำไปขายต่อ เงื่อนไขนี้ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน มันเป็นโมฆะเพียงลำพังและไม่ถึงกับทำให้การซื้อขายก่อนหน้านั้นเป็นโมฆะตามไปด้วย ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

مَنِ اشْتَرَطَ شَرْطًا لَيْسَ فِي كِتَابِ اللَّهِ فَلَيْسَ لَهُ وَإِنْ شَرَطَ مِائَةَ مَرَّةٍ

            “ผู้ใดก็ตามตั้งเงื่อนไขใดๆ โดยไม่ปรากฏในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ เขาย่อมไม่ได้ตามเงื่อนไขนั้น แม้เขาจะกำหนดไว้เป็นร้อยครั้ง”[4]

คำว่า ไม่ปรากฏในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ ในหะดีษข้างต้นนี้ หมายถึงไม่ปรากฏเป็นข้อบัญญัติ(ฮุก่ม)ไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมถึงสุนนะฮ์ของท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย

            เงื่อนไขที่กล่าวแล้วนั้นเป็นโมฆะ แต่ก็มิได้ทำให้สัญญาซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ เพราะมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในยุคของร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือเหตุการณ์ของท่านบรีเราะห์ผู้เป็นศ่อฮาบะห์ที่ขายทาสของตนและตั้งเงื่อนไขว่าหากผู้ซื้อจะปล่อยทาสให้เป็นไท ก็ให้สิทธิ์ในการรับมรดกตกเป็นของตนตามเดิม (ในภาษาอาหรับเรียกว่า “วะลาอ์” ซึ่งหมายถึงสิทธิ์ในการรับมรดกจากทาสที่ได้รับการปล่อยให้เป็นไท ซึ่งเป็นสิทธิ์ของผู้ปล่อยทาส) ดังนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงกล่าวว่า

فَإِنَّمَا الْوَلاَءُ لِمَنْ أَعْتَقَ
“สิทธิในวะลาอ์ (การรับมรดก) ตกแก่ผู้ปล่อยทาสเท่านั้น” [5]

            เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ว่าเงื่อนไขใดถูกต้องและไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการซื้อขาย เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าว และเป็นการป้องกันความเสียหาย การทะเลาะเบาะแว้ง และความไม่ดีงามต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้และไม่เข้าใจในหลักการซื้อขายและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องการซื้อการขายมักมาจากความไม่รู้ไม่เข้าใจของคนส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่ทุกคนเคยเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่น้อยคนจะเข้าใจเรื่องดังกล่าวอย่างถูกต้องเที่ยงตรงตามหลักการของศาสนา ดังนั้นเราจึงเห็นการกำหนดเงื่อนไขผิดๆ อยู่เนืองๆ ในการซื้อการขาย ไม่ว่าจะมาจากผู้ซื้อหรือผู้ขายก็ตาม อ่านต่อ…

[1] อบูดาวูด อัลอุกฎิยะห์ / 3594

[2] อัลบุคอรี อัลวะกาละห์ / 2185, มุสลิม อัลมุซาก๊อต / 715 และท่านอื่นๆ

[3] อบูดาวู๊ด อัลบุยั๊วอ์ / 3003 , อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ ์ / 1153

[4] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2047, มุสลิม อัลอิตก์ / 1504 และท่านอื่นๆ

[5] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2048, อันนะซาอี อัลบุยั๊วอ์ / 4644 และท่านอื่นๆ