สรุป บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย – مُلَخَّصُ كِتاَبِ الْبُيُوْعِ
รวบรวมและเรียบเรียง จากหนังสือ “อัลมุลักค๊อศอัลฟิกฮี่”
ของฟะฎีละตุ้ชเชค ศอและห์ อิบนุ เฟาซาน อัลเฟาซาน
(สมาชิกสภาอุละมาอาวุโส ประเทศซาอุดิอาราเบีย)
โดย อิสฮาก พงษ์มณี (ตอนที่ ๓)
อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อขายทีไม่ถูกต้อง
อัลลอฮ์ทรงอนุญาตการซื้อขาย ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้สิ่งดีกว่าและเป็นประโยชน์สูงสุดต้องเสียหาย เช่น ซื้อขายกันในเวลาที่ต้องปฏิบัติอิบาดะฮ์ที่จำเป็นหรือซื้อขายสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น
ดังนั้นการซื้อขายใดๆ หากเกิดหลังจากอะซานครั้งสุดท้ายในละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์) การซื้อขายนั้นๆ ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะอัลลอฮ์ตรัสว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوْا إِذَا نُوْدِيَ لِلصَّلاَةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَى ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ذَلِكُمْ خَيْرٌ لَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ تَعْلَمُوْنَ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากเมื่อมีการเรียกร้องไปสู่ละหมาดในวันศุกร์แล้ว ก็จงเร่งรีบไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์เถิด และจงละการซื้อขายไว้ (ก่อน) สิ่งดังกล่าวดีกว่าสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้าทราบ”[1]
อัลลอฮ์ทรงห้ามการซื้อขายขณะที่มีการเรียกร้อง(อะซาน)ไปสู่การละหมาดวันศุกร์ เพราะการซื้อขายอาจยืดเยื้อจนไม่ทันละหมาดในวันศุกร์ซึ่งถือว่าสำคัญกว่า และที่ระบุถึงการซื้อขายไว้เป็นการเฉพาะก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นในแง่ของการดำรงชีพ การห้ามย่อมสื่อถึงความไม่ถูกต้อง กล่าวคือการซื้อขายนั้นๆ ไม่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา (ไม่เศ๊าะห์)
การละหมาดที่จำเป็นอื่นๆ เช่นละหมาดประจำวันห้าเวลา ก็ไม่แตกต่างจากละหมาดในวันศุกร์ ซึ่งหากมีการเรียกร้อง(อะซาน)แล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายกันหรือดำเนินการซื้อขายกันต่อแม้การซื้อขายจะเริ่มก่อนการเรียกร้องนั้นก็ตาม[2]
การซื้อขายใดๆ ที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการละเมิดบทบัญญัติของอัลลอฮ์ การซื้อขายนั้นก็ไม่ถูกต้อง เช่นการขายองุ่นที่ทราบดีว่าจะถูกนำไปทำสุรา (ไวน์) เพราะอัลลอฮ์ตรัสว่า
لاَ تَعَاوَنُوْا عَلَى الإِثْمِ وَ العُدْوَانِ
“(พวกเจ้า) อย่าได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องบาปและการเป็นศัตรู”[3]
ทำนองเดียวกัน การขายอาวุธในห้วงเวลาที่เกิดความรุนแรงและไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะผู้ที่ซื้อไปอาจนำไปประทุษร้ายต่อผู้บริสุทธิ์ได้ และหากผู้ที่ถูกประทุษร้ายนั้นเป็นมุสลิมด้วยแล้วย่อมเกิดบาปมหันต์ ทั้งนี้รวมถึงวัตถุและอุปกรณ์ใดๆ ที่เป็นส่วนประกอบของอาวุธนั้นๆ ด้วย เพราะอัลลอฮ์ตรัสไว้ว่า
لاَ تَعَاوَنُوْا عَلَى الإِثْمِ وَ العُدْوَانِ
“(พวกเจ้า) อย่าได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องบาปและการเป็นศัตรู” [4]
ท่านอิบนุก๊อยยิมกล่าวว่า “มีตัวบทหลักฐานมากมายระบุชัดว่าเจตนาและเป้าหมายย่อมได้รับการพิจารณาเสมอในการทำข้อตกลงระหว่างกัน และมันส่งผลต่อข้อตกลงนั้นในแง่ความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง กล่าวคือต้องห้ามหรือไม่ต้องห้าม ดังนั้นอาวุธใดๆ ที่ถูกขายไปให้แก่ผู้ที่ทราบดีว่าจะนำไปสังหารมุสลิม การขายนั้นมิชอบด้วยหลักการ เพราะเป็นการส่งเสริมหรือช่วยเหลือในสิ่งที่เป็นบาปและเป็นศัตรู แต่หากขายอาวุธนั้นไปแก่ผู้ที่ทำการปกป้องศาสนา การขายนั้นเป็นเรื่องดีและถูกต้อง ในทางกลับกันหากมันถูกขายไปแก่ผู้สร้างความเสียหายให้สังคม เช่นปล้นสะดม ขู่ ฆ่า และบังคับคืนใจผู้อื่น หากผู้ถูกกระทำเป็นมุสลิมด้วยแล้ว การขายนั้นย่อมมิชอบด้วยหลักการของศาสนา
ศาสนากำหนดว่าห้ามมิให้ซื้อขายตัดหน้ากัน เช่น พ่อค้าที่ขายของตัดหน้าผู้อื่น ลูกค้าได้ตกลงจะซื้อสินค้าจากผู้ขายรายหนึ่งในราคาหนึ่งร้อยบาท แต่มีพ่อค้าอีกรายหนึ่งเสนอราคาตัดหน้าว่าหากซื้อของเขา เขาคิดเพียงเก้าสิบบาท หรือถ้าเปลี่ยนใจมาซื้อของเขา เขาจะนำสินค้าที่ดีกว่ามาให้ในราคาเดียวกัน อย่างนี้เป็นต้น การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนาและเป็นที่ต้องห้าม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
لاَ يَبِيعُ بَعْضُكُمْ عَلَى بَيْعِ أَخِيهِ
“ผู้หนึ่งผู้ใดจากพวกเจ้าอย่าได้ขายตัดหน้าพี่น้องของเขา”[5]
لاَ يَبِيعُ الرَّجُلُ عَلَى بَيْعِ أَخِيهِ
“ผู้หนึ่งอย่าได้ขายตัดหน้าพี่น้องของเขา” [6]
ทั้งนี้รวมถึงการซื้อตัดหน้ากันด้วย เช่น มีผู้ขายของให้ผู้หนึ่งในราคาหนึ่งร้อยบาท ในขณะนั้นก็มีอีกผู้หนึ่งขอซื้อในราคาหนึ่งร้อยห้าสิบบาท การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการซื้อตัดหน้า ซึ่งต่างจากวิธีการประมูลที่จะได้กล่าวในลำดับต่อไป
การซื้อขายที่ต้องห้ามอีกประเภทหนึ่งคือ การที่คนในเมืองขายให้กับคนชนบท เรียกตามที่ปรากฏในตัวบทหะดีษว่า “บัยอุฮาดิรินลิบาด” ซึ่งพิจาณาตามวิธีการแล้วอาจจะมิใช่เป็นการซื้อขายโดยตรงแต่เป็นการแทรกแซงตลาดมากกว่า วิธีการดังกล่าวคือ ผู้มาจากชนบทที่ตั้งใจนำสินค้าของตนมาขายในตลาดในเมือง โดยกำหนดราคาที่ตนพอใจไว้แล้ว ส่วนใหญ่มักไม่ทราบราคาสินค้านั้นๆ ว่าในเมืองเขาซื้อขายกันเท่าใด บังเอิญเขามีเพื่อน พี่น้อง หรือญาติอยู่ในเมือง ผู้คนเหล่านั้นอาจอาสาขายสินค้านั้นแทนผู้มาจากชนบทเพราะเห็นว่าตั้งราคาต่ำเกินไปจากราคาที่ซื้อขายกันในตลาดในเมือง มองโดยภาพรวมแล้วน่าจะเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง แต่ศาสนาระบุว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง ท่านนบีกล่าวไว้ว่า
لاَ يَبِعْ حَاضِرٌ لِبَادٍ
“ผู้อยู่ในเมืองอย่าขายแทนผู้มาจากชนบท”[7]
ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า
قال بن عباس رضي الله عنه ” لاَ يَكُوْنُ لَهُ سِمْسَارًا – أَيْ: دَلاَّلاً- يَتَوَسَّطُ بَيْنَ اْلبَائِعِ وَاْلمُشْتَرِي
“อย่า (อาสา) เป็นตัวกลาง (แนะนำ) ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ” [8]
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
دَعُوا النَّاسَ يَرْزُقِ اللَّهُ بَعْضَهُمْ مِنْ بَعْضٍ
“จงปล่อยผู้คนให้ได้รับริซกีจากอัลลอฮ์โดยผ่านซึ่งกันและกันเถิด” [9]
สิ่งที่ต้องห้ามนั้นคือการที่คนในเมืองเสนอเป็นตัวกลางขายสินค้าให้กับคนชนบทซึ่งรวมถึงการซื้อด้วยเช่นกัน แต่ถ้าผู้อยู่ในชนบทเป็นผู้ขอร้องให้ผู้อยู่ในเมืองทำการแทนไม่ว่าจะเป็นการขายหรือซื้อก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม เราเห็นได้ชัดเจนว่าศาสนาห้ามมิให้ผู้อื่นแทรกแซงตลาดเช่นกรณีของชาวเมืองที่อาสาเป็นตัวกลางระหว่างผู้ขายที่มาจากชนบทกับลูกค้าที่อยู่ในเมือง
การซื้อขายอีกประเภทหนึ่งที่นับว่าต้องห้ามคือการซื้อขายที่เรียกว่า “อัลอีนะห์” ตัวอย่างเช่น มีผู้หนึ่งขายสินค้าผ่อนให้กับอีกผู้หนึ่ง แล้วเขาซื้อคืนในราคาเงินสดที่ต่ำกว่าราคาขาย กล่าวคือผู้ขายในตอนแรกเป็นผู้ซื้อสินค้านั้นคืนจากผู้ซื้อในราคาที่ต่ำกว่า การกระทำดังกล่าวเรียกว่าการซื้อขายแบบ “อัลอีนะห์” ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเป็นวิธีเลี่ยงดอกเบี้ยเพราะจริงๆ แล้วก็เท่ากับการกู้เงินลักษณะผ่อนส่ง คือให้เงินกู้ไปและคืนเงินใช้หนี้ที่มากกว่าหนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
إِذَا تَبَايَعْتُمْ بِالْعِيْنَةِ وَأَخَذْتُمْ أَذْنَابَ الْبَقَرِ وَرَضِيْتُمْ بِالزَّرْعِ وَتَرَكْتُمْ الْجِهَادَ سَلَّطَ اللَّهُ عَلَيْكُمْ ذُلاًّ لاَ يَنْزِعُهُ حَتَّى تَرْجِعُوْا إِلَى دِيْنِكُمْ
“เมื่อพวกเจ้าซื้อขายกันลักษณะ“อัลอีนะห์” ถือหางวัว (วุ่นอยู่กับการเลี้ยงสัตว์) พอใจในพืชผล ละทิ้งการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะให้ความตกต่ำเกิดแก่พวกเจ้า พระองค์จะไม่ถอนมันคืนไปจนกว่าพวกเจ้าจะหวนกลับไปสู่ศาสนาของพวกเจ้า” [10]
يَأْتِيْ عَلىَ النَّاسِ زَمَانٌ يَسْتَحِلُّوْنَ الرِّبَا بِاْلبَيْعِ
“จะมียุคหนึ่งมาถึงมนุษย์ พวกเขาจะทำดอกเบี้ยเป็นที่อนุมัติด้วย (เล่ห์ของ) การซื้อขาย”[11] อ่านต่อ…
[1] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2040, อิบนุมาญะห์ อัตติญาร๊อต / 2170 และท่านอื่นๆ
[2] ดู อัลนูร / 36-38
[3] อัลมาอิดะห์ / 2
[4] อัลมาอิดะห์ / 2
[5] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2043, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1515 และท่านอื่นๆ
[6] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2033, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1515 และท่านอื่นๆ
[7] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2034, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1515 และท่านอื่นๆ
[8] อัลมุลัคค็อศ อัลฟิกฮี่ , อิบนุ้ลเฟาซาน / 327
[9] มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1522 , อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ ์ / 1223 และท่านอื่นๆ
[10] อบูดาวูด อัลบุยั๊วอ์ / 3462 , อะห์หมัด 2/84
[11] อิฆอษะตุ้ลละห์ฟาน เล่ม 1 หน้า 352 อ้างถึงบันทึกของ อิบนุบัฏเฏาะห