เชค ฟะลาฮ์ มันดะการ

เชค ฟะลาฮ์ มันดะการ
แปลความโดย : อิบนิ ซีร็อจ อัลยัรมูกีย์ อัลมะดะนีย์ (24/2/2025)

ชื่อ เชื้อสายของท่าน

         ชื่อของท่านคือ : ฟะลาฮ์ อิบนิ อิสมาอีล อิบนิ อะฮ์มัด มันดะการ

         ท่านมีฉายา (กุนยะฮ์) ว่า : อบูมุฮัมมัด (บิดาของมุฮัมมัด)

         ท่านคือปราชญ์ ผู้เปี่ยมไปด้วยจรรยามารยาทอันดีงาม เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในวิชาการศาสนาหลายแขนง อีกทั้ง เป็นผู้ยึดมั่นบนแนวทางแห่งชนชาวสลัฟและมั่นคงอยู่บนสัจธรรมอันถูกต้องอย่างแท้จริง

ชีวประวัติของท่านพอสังเขป

         เชค ฟะลาฮ์ บิน อิสมาอีล มันดะการ เกิดในปี ค.ศ.1950 ที่ประเทศคูเวตและภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคูเวต เชคท่านได้ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ หลังจากนั้น ท่านตัดสินใจละทิ้งงานนี้ เเละทุ่มเทให้การศึกษาวิชาการศาสนา โดยที่ในขณะนั้นท่านมีอายุ 26 ปี

         เชคท่านเริ่มต้นการศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ในปี ค.ศ.1976 และได้เรียนกับปวงปราชญ์ที่นั่นเป็นระยะเวลา 15 ปี ซึ่งท่านได้รับความรู้จากปราชญ์หลายท่าน ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัย และภายในมัสยิดอันนะบะวีย์ โดยท่านได้ศึกษาวิชาการมากมาย อาทิ :อะกีดะฮ์  ฟิกห์  ฮะดีษ  ตัฟซีร  เป็นต้น

         เชคท่านได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ด้วยผลการเรียน “ยอดเยี่ยม” ในทุกระดับชั้น … หลังจากนั้น ท่านได้กลับไปยังประเทศคูเวต เพื่อเผยแผ่ในสิ่งที่ท่านเรียนรู้มาและตักเตือนกลุ่มชนของท่าน ท่านได้เข้าเป็นครูสอนที่คณะชะรีอะฮ์ (นิติศาสตร์อิสลาม) มหาวิทยาลัยคูเวต พร้อมสอนประจำที่มัสยิดแห่งหนึ่ง และขึ้นคุฏบะฮ์อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่ง สุขภาพของท่านเริ่มไม่อำนวย ท่านจึงได้ละเลิกการขึ้นคุฏบะฮ์

         เชคเป็นที่รับรู้กันในเรื่องของการมีระเบียบวินัยในการทำงานของท่าน ท่านเริ่มต้นการสอนตั้งแต่วันแรกของภาคเรียน จนถึงวันสุดท้าย และท่านไม่เคยขาดการสอนเลยเว้นเสียแต่จะมีเหตุจำเป็นจริงๆเท่านั้น แม้กระทั่งในบางครั้งที่มีเหตุจำเป็น ท่านก็ยังพยายามมาสอน ทั้งนี้เพื่อให้จบหลักสูตรตามภาคเรียน และสร้างประโยชน์แก่นักเรียนให้มากที่สุด

         ปรากฏว่า ความรู้และวิธีการสอนที่ดีเยี่ยม รวมถึงความเมตตา ความรักที่เชคท่านมีต่อนักเรียน และการทำดีต่อพวกเขา จึงส่งผลให้บรรดานักเรียนทั้งชายและหญิงในช่วงเริ่มต้นของภาคเรียน ต่างมาลงทะเบียนเรียนกับท่าน จนทำให้จำนวนผู้ลงทะเบียนในวิชาของท่านมักจะเต็มจำนวนสูงสุดที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ต้องการเข้าร่วมเรียนกับท่าน ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้ลงทะเบียนในวิชาเรียนของท่านก็ตาม เนื่องจากความรู้ของท่าน และความตั้งใจของนักเรียนที่จะศึกษาจากท่าน ถึงแม้จะไม่ได้ลงทะเบียนในวิชาของท่าน โดยสิ่งดังกล่าวนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักกับผู้สอนท่านอื่น

         ท่านมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน และสัมนาทางวิชาการมากมายที่จัดขึ้นในประเทศคูเวต ซึ่งบรรดานักศึกษาล้วนได้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมเหล่านี้ เนื่องจาก ท่านมีความมุ่งมั่นในการเผยแผ่ความรู้ให้กับนักเรียนของท่าน และถึงแม้ว่า ท่านจะมีความรู้และอายุที่มากแล้ว แต่ท่านก็ยังเข้าร่วมในสัมมนาวิชาการและกิจกรรมทางศาสนาหลายรายการ ทั้งในประเทศคูเวต และที่ต่างประเทศ ซึ่งท่านเข้าร่วมการสัมนาตั้งแต่เริ่มต้น จนจบตามหลักสูตร ถึงแม้อายุของท่านจะมากกว่าคณาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรนั้นก็ตาม และกิจกรรมเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการเผยแผ่อิสลามทั้งในคูเวต และภายนอก นอกจากนี้ เชคท่านมีความเอาจริงเอาจัง ให้ความสำคัญ เน้นย้ำ และมีความมุ่งมั่นในการเรียนการสอนหนังสืออะกีดะฮ์ ตามแนวทางของชนชาวสลัฟ รวมถึง การตอบโต้บรรดาผู้อุตริกรรมทั้งหลายด้วยวิธีการที่ดีที่สุด

         ท่านมักจะต้อนรับคณาจารย์ และนักศึกษาที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยให้พวกเขาพำนักที่บ้านของท่าน ท่านให้การต้อนรับพวกเขาตลอดระยะเวลาที่พวกเขาอยู่ในประเทศนี้ และบางครั้งหรือบ่อยครั้ง พวกเขาพักอยู่ที่บ้านของท่านนานหลายเดือน โดยท่านยังคงให้การต้อนรับและดูแลพวกเขา

         ท่านมีความใส่ใจต่องานด้านสังคม และไม่เคยพลาดการเข้าร่วมงานต่างๆของผู้คนที่ท่านรู้จัก ท่านเข้าร่วมงานแต่งงาน เยี่ยมผู้ป่วย ไปญะนาซะฮ์ และมีความตั้งใจที่จะรวมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ตักเตือนผู้คนจากฟิตนะฮ์ (ความวุ่นวาย) และเตือนให้ระวังการแตกแยกที่เกิดขึ้น พร้อมทั้ง เน้นย้ำถึงความสำคัญของความสามัคคีในหมู่ชาวมุสลิม และไม่ให้แตกแยกกัน

         นอกจากนี้ เชคท่านชื่นชอบการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการด้วยความเมตตา ท่านมีความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือคนยากไร้ และคนยากจน ผู้ที่กำลังเดือดร้อน และผู้ที่อ่อนแอ อีกทั้ง เมื่อท่านทราบถึงความขัดแย้ง หรือความไม่ลงรอยกันระหว่างพี่น้องมุสลิม ท่านจะพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และดับไฟแห่งการวิวาทะ ท่านจะรวมคณาจารย์ และนักเรียนเพื่อช่วยกันปรองดอง และแก้ไขสถานการณ์ให้สงบ

         เชค ฟะลาฮ์ บิน อิสมาอีล มันดะการ เปรียบเสมือนบิดาของชาวสะละฟีย์ทุกคนในประเทศคูเวต ท่านเป็นบุคคลที่มีลักษณะเด่นในด้านของจรรยามารยาทอันดีงาม การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความสุภาพ มีความซื่อสัตย์ในการทำงาน เป็นผู้ที่มีความนุ่มนวล อ่อนโยน และมีความเมตตาต่อผู้อื่น ท่านให้ความสำคัญต่อการดูแลบิดามารดา และการสานสัมพันธ์กับคนในครอบครัว อีกทั้ง ท่านมีความถ่อมตัวกับบรรดาลูกศิษย์ และพี่น้องของท่าน และพยายามช่วยเหลือพวกเขาในการจัดการเรื่องราวต่างๆ ท่านมีความห่วงใย และให้ความสำคัญต่อ อัลกุรอ่าน ซุนนะห์ รวมถึง อะกีดะฮ์ของชาวซุนนะห์ ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ท่านได้รับความเคารพ และการยกย่องจากปวงปราชญ์ รวมถึงจากบรรดาสานุศิษย์ และจากผู้คนที่รู้จักท่าน หรือเคยได้ยินเรื่องราวของท่าน แม้กระทั่ง จากผู้ที่มีความขัดแย้งทางวิชาการกับท่าน เนื่องจากคุณลักษณะและจรรยามารยาทอันดีงามของท่าน ทั้งในด้านสถานะวิชาการ และในด้านความนอบน้อมถ่อมตนในการปฏิบัติต่อผู้อื่น โดยที่หนึ่งในลักษณะเด่นของท่านคือ “รอยยิ้มที่ไม่เคยหายไปจากใบหน้าของท่าน” เมื่อท่านพูดคุยกับผู้อื่น หรือตอนที่ตอบคำถามให้แก่พวกเขา รวมถึง ตอนที่สอนหนังสือด้วย

หน้าที่การงานของท่าน

         เชคท่านดำรงตำแหน่งอาจารย์ และสมาชิกในคณะกรรมการการศึกษาสาขาอะกีดะฮ์และการเผยแผ่ศาสนา ประจำคณะนิติศาสตร์อิสลามและการศึกษาอิสลาม มหาวิทยาลัยคูเวต ท่านสอนระดับปริญญาตรี และปริญญาโทในสาขาอะกีดะฮ์ อีกทั้ง เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาอะกีดะฮ์และการเผยแผ่ศาสนา ประจำคณะนิติศาสตร์อิสลาม และต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทด้านอะกีดะฮ์ รวมถึง มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และดูแลการวิจัยวิทยานิพนธ์

         เชค ฟะลาฮ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกในคณะกรรมการเพื่อการวินิจฉัยปัญหาศาสนา ประจำกระทรวงสาธารณสมบัติและกิจการของศาสนาอิสลาม ของประเทศคูเวต อีกทั้ง เป็นสมาชิกในคณะกรรมการหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และได้มีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษา ในภาควิชาอะกีดะฮ์ ประจำกระทรวงศึกษาธิการของคูเวต และท่านยังเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมตะรอฮิม ซึ่งเป็นองค์กรทางการกุศล และมนุษยธรรม

แนวทางการสอนของท่าน

         เชค ฟะลาฮ์ มันดะการ มีลักษณะและแนวทางสอนที่มีความโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน โดยสิ่งที่ทำให้ท่านมีความแตกต่างจากผู้อื่นในวิธีการสอนนั้น มีดังต่อไปนี้ :

  • การพิสูจน์ (ตะฮ์กี๊ก) ในประเด็นต่างๆทางวิชาการในเรื่องของอะกีดะฮ์ โดยการพูดถึงคำกล่าวของบรรพชนชาวสลัฟ และตามด้วยคำกล่าวของบรรดานักตะฮ์กี๊กในประเด็นเหล่านั้น
  • การวางรากฐานทางด้านวิชาการในประเด็นทางด้านอะกีดะฮ์ ด้วยการตั้งกฎเกณฑ์ทั่วไปตามแนวทางของชนชาวสลัฟ
  • การพูดถึงคำกล่าวของกลุ่มฟิร็อกต่างๆ ที่ขัดแย้งกับชาวซุนนะห์ ในประเด็นทางด้านอะกีดะฮ์ และการโต้แย้งคำกล่าวเหล่านั้นจาก อัลกุรอ่าน ซุนนะฮ์ ภาษาอาหรับ และคำกล่าวของบรรพชนชาวสลัฟ
  • ท่านมักอ้างอิงคำสอนจาก บรรดาคณาจารย์ที่ท่านได้รับความรู้มาจากพวกเขา โดยการพูดถึงคำกล่าวของพวกเขา การให้น้ำหนักของพวกเขาต่อประเด็นต่างๆที่ท่านกำลังอธิบาย
  • การจดจำเนื้อหาของหนังสือที่อธิบาย
  • การพูดถึงคำกล่าวของของ บรรดานักฟิกฮ์ นักฮะดีษ ปวงปราชญ์ รวมถึง บอกมัซฮับของพวกเขา ภายในการอธิบายของท่านในแต่ละประเด็นทางวิชาฟิกห์ พร้อมทั้ง บอกถึงหลักฐานของพวกเขา ทั้งจากอัลกุรอ่าน และซุนนะห์ รวมถึง หลักฐานอื่นๆของบทบัญญัติ (เช่น อิจญมาอ์) หลังจากนั้น ทำการเปรียบเทียบ และให้น้ำหนักคำกล่าวของบรรดานักฟิกฮ์
  • คณาจารย์ของท่าน

         ปรากฏว่า เชค ฟะลาฮ์ มันดะการ ท่านมีคณาจารย์ที่ได้รับความรู้ และได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการแขนงต่างๆมาจากพวกเขาเหล่านั้น … โดยจะขอนำเสนอเพียงบางส่วนดังต่อไปนี้ :

  1. เชค อับดุลอะซีซ บิน บาซ
  2. เชค มุฮัมมัด อัลมุคตาร อัชชังกีฏีย์
  3. เชค มุฮัมมัด บิน ซอและฮ์ อัลอุซัยมีน
  4. เชค มุฮัมมัด นาซิรุดดีน อัลอัลบานีย์
  5. เชค ฮัมมาด อัลอันซอรีย์
  6. เชค อุมัร อิบนิ มุฮัมมัด ฟัลลาตะฮ์
  7. เชค มุฮัมมัด อะมาน อัลญามีย์
  8. เชค อับดุลลอฮ์ อิบนิ มุฮัมมัด อัลฆุนัยมาน
  9. เชค อบูบักร อิบนิ ญาบิร อัลญะซาอืรีย์
  10. เชค อุบัยด์ อิบนิ อับดุลลอฮ์ อัลญาบิรี่ย์
  11. เชค อาลี อืบนิ มุฮัมมัด อัลฟะกีฮี่ย์
  12. เชค ร่อเบี๊ยะอ์ อิบนิ ฮาดีย์ อัลมัดค่อลีย์
  13. เชค อับดุลมั๊วะฮ์ซิน บิน ฮะมัด อัลอับบาด
  14. เชค ซอและฮ์ อิบนิ เฟาซาน อัลเฟาซาน

… ขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงเมตตา และอภัยโทษให้แก่พวกท่านด้วยเถิด …

ตำราของท่าน

         เชค ฟะลาฮ์ มันดะการ มีตำราทางวิชาการมากมายที่ท่านประพันธ์ และโดยส่วนใหญ่จะเป็น “ตำราทางด้านอะกีดะฮ์” และ “การโต้ตอบความเท็จ” … โดยที่ส่วนมากจากตำราของท่านมีดังต่อไปนี้

  1. อัลอะกีดะฮ์ เอาวะลัน (العقيدة أولا)
  2. อัลอะชาอิเราะฮ์ ลัยซูมิน อะฮ์ลิซซุนนะฮ์ (الأشاعرة ليسوا من أهل السنة والجماعة)
  3. อัรรุกอ อัชชัรอียะฮ์ บัยนัตตันซี้ล วัฏฏัตบีก (الرقى الشرعية بين التنزيل والتطبيق)
  4. อัลเอียะอ์ติกอด อัลวาญิบ นะฮ์วะ อัลก็อดร์ (الاعتقاد الواجب نحو القدر) 
  5. อัลเอียะอ์ติกอด อัลวาญิบ นะฮ์วะ อัซซอฮาบะฮ์ (الاعتقاد الواجب نحو الصحابة)
  6. นัซอะฮ์ อัตตักฟีร คุฏูร่อตะฮา ว่าอิลาญะฮา (نزعة التكفير، خطورتها وعلاجها) 
  7. ชัรฮ์ อุซู้ล อัซซุนนะฮ์ ลิ้ลอิมาม อะฮ์มัด (شرح الأصول السنة للإمام أحمد بن حنبل)
  8. มาซา ยะอ์นูน บิ้ลญามียะฮ์ วัลมัดค่อลียะฮ์ (ماذا يعنون بالجامية والمدخلية)
  9. อัลมิลัล วันนิฮัล (الملل والنحل) … (หนังสือใช้เรียนในมหาลัย)
  10. อัลอัคล๊าก อัลอิสลามียะฮ์ (الأخلاق الإسلامية) … (หนังสือใช้เรียนในมหาลัย)
  11. อะกีดะฮ์ 2 عقيدة (٢) … (หนังสือใช้เรียนในมหาลัย)
  12. ตะฮ์กีก ษะลาษ มินชัวะบิ้ลอีมาน ลิ้ลบัยฮะกีย์ (تحقيق ثلاثمن شعب الإيمان للبيهقي) … (เป็นวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาโทของท่าน)
  13. อัลอะลาเกาะฮ์ บัยนะ อัตตะเศาวุฟ ว่า อัตตะชัยยุอ์ (العلاقة بين التصوف والتشيع) … (เป็นวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาเอกของท่าน)
  14. การเสียชีวิตของท่าน

         เชค ฟะลาฮ์ ประสบกับโรคภัยหลายชนิด จึงทำให้ท่านต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเนืองนิจ ท่านเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง รวมถึง การผ่าตัดหัวใจ และการผ่าตัดขาทั้ง 2 ส่งผลให้ท่านต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน ท่านเผชิญกับบททดสอบด้วยความอดทน จนในที่สุด ท่านได้ประสบกับไวรัสโควิด และเสียชีวิตลงในคืนวันพฤหัสบดีที่ 5 รอบีอุ้ลเอาวั้ล ฮ.ศ.1442 (ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.2020) ด้วยอายุประมาณ 70 ปี เนื่องจากติดไวรัสดังกล่าว

رحمه الله تعالى وغفر له

====================================

والله أعلم بالصواب

📚 สรุปความจาก : เว็ปไซต์  https://hamadalhajri.net/

https://www.mandakar.net/Article.aspx?id=428

https://ar.wikipedia.org/wiki/فلاح_مندكار

http://mnoor.com/showthread.php?p=26640 📚