ความประเสริฐสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์
โดย อ.ดาวูด รอมาน
ซุลฮิจญะฮ์เป็นเดือนลำดับที่ 12 ตามปฏิทินอิสลาม เดือนนี้เป็นเทศกาลแห่งการทำอิบาดะฮ์ทั้งฟัรดูและสุนนะฮ์ โดยเฉพาะช่วงสิบวันแรกที่รวมอิบาดะฮ์หลักไว้ในช่วงเวลาดังกล่าว อันประกอบไปด้วยละหมาด การถือศีลอด การทำทานและการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ. บัยตุลลอฮ์ ดังนั้นศาสนาส่งเสริมให้ทำอิบาดะฮ์ให้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาดสุนนะฮ์ต่าง ๆ การถือศีลอด การบริจาคทาน หรือการกล่าวถ้อยคำระลึกถึงพระองค์อัลลอฮ์ และรวมถึงความประเสริฐของ วันอะรอฟะฮ์ วันนะหฺรุ วันตัชรีก
๑.ความประเสริฐในช่วง 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์
รายงานจากท่านอับดุลลอฮ์อิบนิอับบาสว่า ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
[مَا مِنْ أَيَّامٍ اْلعَمَلُ الصَّالِحُ فِيهِنَّ أَحَبُّ إِلَى اللهِ مِنْ هَذِهِ اْلأَيَّامِ اْلعَشْرِ ، فَقَالُوْا يَارَسُولَ اللهِ وَلاَ اْلجِهَادُ فِي سَبِيْلِ اللهِ ؟ ، فَقَالَ رَسُوْلُ اللهِ صلى الله عليه وسلم : وَلاَ اْلجِهَادُ فِي سَبِيْلِ اللهِ ، إِلاَّ رَجُلٌ خَرَجَ بِنَفْسِهِ وَمَالِهِ فَلَمْ يَرْجِعْ مِنْ ذَلِكَ بِشَيْءٍٍٍ]رواه البخاري وأبوداودوالترمذي وابن ماجه وأحمد
“ไม่มีการปฏิบัติการงานที่ดีในวันใดที่อัลลอฮ์ทรงชอบมากกว่าการปฏิบัติในสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์” บรรดาศอฮาบะฮ์ก็ได้ ถามว่า “แม้กระทั่งการญิฮาด(การทำสงครามต่อสู้)ในหนทางของอัลลอฮ์กระนั้นหรือ ?” ท่านร่อซูล กล่าวว่า “แน่นอน แม้กระทั่งการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ เว้นแต่ผู้ที่ออกญิฮาดด้วยตัวของเขาเอง และทรัพย์สินของเขา แล้วไม่กลับมาพร้อมกับทรัพย์สินดังกล่าว (เพราะเสียชีวิตในสงครามและทรัพย์สินถูกศัตรูยึดไป)” (บันทึกโดยบุคอรีย์ ติรมีซียฺ อบูดาวุด อะหมัด อิบนุมาญะฮ์ )
เชคมุฮัมหมัด ซอและห์ อัลอุษัยมีน กล่าวว่า “การงานที่ดีนั้นประมวลไปด้วยการละหมาด ทำทาน ถือศิลอด ซิกรุ้ลลอฮ์ ตักบีร อ่านอัลกุรอาน ทำดีต่อบิดามารดา เชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ ทำดีกับมนุษย์ ทำดีต่อเพื่อนบ้าน และความดีทุกอย่าง นอกเหนือจากดังกล่าว”(มูฮัมหมัด ซอและฮ์ อัลอุษัยมีน ในชัรหุริยาฎุซซอลิฮีน 267/3)
๒. กล่าวซิกรุลลอฮ์ให้มาก ๆ ในช่วง 10 วัน แรก
อัลลอฮ์กล่าวว่าว่า وَيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّهِ فِي أَيَّامٍ مَعْلُومَاتٍ عَلَى مَا رَزَقَهُمْ مِنْ بَهِيمَةِ الْأَنْعَامِ
“…และกล่าวพระนามอัลลอฮ์ในบรรดาวันที่รู้กันอยู่แล้ว ตามที่พระองค์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวก เขาจากสัตว์สี่เท้า…” (อัลหัจญฺ : 28)
ท่านอิบนิอับบาส กล่าวว่า คำว่า “บรรดาวันที่รู้กันอยู่แล้ว” คือ 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (อิบนุกะซีร ในตัฟซีรอัลกุร อ่านนุลอะซีม ซูเราะฮ์อัลหัจญฺ อายะฮ์ที่ 28)
ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
[مَا مِنْ أَيَّامٍ أَعْظَمُ عِنْدَ اللَّهِ وَلَا أَحَبُّ إِلَيْهِ مِنْ الْعَمَلِ فِيهِنَّ مِنْ هَذِهِ الْأَيَّامِ الْعَشْرِ فَأَكْثِرُوا فِيهِنَّ مِنْ التَّهْلِيلِ وَالتَّكْبِيرِ وَالتَّحْمِيدِ]
“ไม่มีวันใดอีกแล้วที่การ ทำความดีจะมีคุณค่าความยิ่งใหญ่และเป็นที่โปรดปรานมากที่สุด ณ ที่อัลลอฮ์ มากไปกว่า การทำความดี ในช่วงสิบวันแรก ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ดังนั้นพวกท่านจงพยายามกล่าว ตะฮลีล ตักบีร และตะหฺมีด ให้มากๆ เถิด”(บันทึกโดยอะหมัด )
๓. อัลลอฮ์ทรงสาบานด้วยกับช่วงเวลา 10 วันนี้
เมื่ออัลลอฮ์ทรงสาบานด้วยกับสิ่งใดสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก และในช่วง 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์เป็นช่วงเวลาที่อัลลอฮ์ทรงสาบานว่า
وَالْفَجْرِ (1) وَلَيَالٍ عَشْرٍ (2)
“ข้าสาบานด้วยยามรุ่งอรุณ (1) และด้วยค่ำคืนทั้งสิบ (2) ” (อัลฟัญรฺ : 1-2)
“และด้วยค่ำคืนทั้งสิบ” คือ 10 วันของเดือนซุลฮิจญะฮ์ เป็นคำอธิบายของอิบนุอับบาส อิบนุ ซุบัยรฺ มุญาฮิด และคำกล่าวอีกหลาย ๆ ท่านจากชาวสะลัฟ
๔. วันอะรอฟะฮ์
วันอะรอฟะฮ์คือวันที่ 9 ของเดือนซุลหิจญะฮ์ ซึ่งเป็นวันที่บรรดาผู้ที่ประกอบพิธีฮัจญ์ไปรวมตัวกันที่ทุ่งอะรอฟะฮ์ เป็นวันที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ประกอบพิธีฮัจญ์ และยังเป็นวันที่ประเสริฐที่สุดของปี และในวันนี้ มีความประเสริฐ อันมากมาย ได้แก่
๔.๑.พระองค์อัลลอฮ์ทรงทำให้ศาสนาอิสลามสมบูรณ์
จากฎอริก อิบนฺชิฮาบว่า
أَنَّ أُنَاسًا مِنْ الْيَهُودِ قَالُوا لَوْ نَزَلَتْ هَذِهِ الْآيَةُ فِينَا لَاتَّخَذْنَا ذَلِكَ الْيَوْمَ عِيدًا فَقَالَ عُمَرُ : أَيَّةُ آيَةٍ فَقَالُوا : الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمْ الْإِسْلَامَ دِينًا فَقَالَ عُمَرُ : إِنِّي لَأَعْلَمُ أَيَّ مَكَانٍ أُنْزِلَتْ أُنْزِلَتْ وَرَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَاقِفٌ بِعَرَفَةَ
“ มีชาวยิวคนหนึ่งได้พูดว่า หากว่าอายะฮ์นี้ได้ถูกประทานลงมาแก่พวกเราชาวยิว เราย่อมยึดวันนั้น เป็นวันอีดของ เราอย่างแน่นอน ท่านอุมัรจึงถามขึ้นว่า อายะฮ์ไหนหรือ ? ชาวยิวตอบว่า
الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الْإِسْلَامَ دِينًا
” วันนี้ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว และข้าได้ให้ความ กรุณาเมตตาของข้าครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว ” (อัลมาอิดะฮ์ : 3)ท่านอุมัร กล่าวตอบว่า “แท้จริงพวกเราทราบดีถึงสถานที่ที่อายะฮ์นี้ถูกประทานแก่ท่านนบี ศ็อลลัล ลอฮุอะลัยฮิวะ ซัลลัม ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังยืนอยู่ที่ทุ่ง อะรอฟะฮ์” (บันทึกโดยบุคอรี)
๔.๒.พระองค์อัลลอฮ์ทรงปลดปล่อยบ่าวของพระองค์จากไฟนรกมากที่สุด
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮารายงานว่า ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า[مَا مِنْ يَوْمٍ أَكْثَرَ مِنْ أَنْ يُعْتِقَ اللَّهُ فِيهِ عَبْدًا مِنْ النَّارِ مِنْ يَوْمِ عَرَفَةَ]
“ไม่มีวันใดอีกแล้วที่อัลลอฮ์จะทรงปลดปล่อยปวงบ่าวออกจากไฟนรก มากไปกว่าวันอะรอฟะฮ์ ” (บันทึกโดยมุสลิม )
๔.๓.เป็นวันอีดสำหรับผู้ที่ประกอบพิธีฮัจญ์ที่อยู่ ณ ทุ่งอะรอฟะฮ์
ท่านอุกบะฮ์ บิน อามิร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
[يَوْمُ عَرَفَةَ وَيَوْمُ النَّحْرِ وَأَيَّامُ التَّشْرِيقِ عِيدُنَا أَهْلَ الْإِسْلَامِ وَهِيَ أَيَّامُ أَكْلٍ وَشُرْبٍ]
“วันอะรอฟะฮ์ วันเชือด และวันตัชรีก เป็นวันอีดของพวกเราชาวอิสลาม เป็นวันแห่งการกินและดื่ม” (บันทึกโดยอบูดาวุด ติรมีซียฺ นะซาอียฺ เชคอัลบานียฺ ระบุว่าหะดีษบทนี้เศาะเหี๊ยะหฺ )
๔.๔. การถือศิลอดในวันนั้นจะลบล้างบาปถึงสองปี
ท่านอบูกอตาดะฮ์อัลอันศอรีรายงานว่า ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอะรอฟะฮ์ ท่านเราะซูลุลลอฮ์ตอบว่า
[صِيَامُ يَوْمِ عَرَفَةَ أَحْتَسِبُ عَلَى اللهِ أَنْ يُكَفِّرَ السَّنَةَ الَّتِي قَبْلَهُ وَالسَّنَةَ الَّتِي بَعْدَهُ]
“การถือศีลอดในวันอะรอฟะฮ์ ฉันคาดหวังว่าอัลลอฮ์จะทรงลบล้างบาปของหนึ่งปีที่ผ่านมา และหนึ่งปีที่ จะมาถึง” (บันทึกโดยมุสลิม )
๔.๕.เป็นช่วงเวลาที่ดีของการขอดุอาอฺ
ท่านอับดุลลอฮ บินอัมรฺ รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
[خَيْرُ الدُّعَاءِ دُعَاءُ يَوْمِ عَرَفَةَ وَخَيْرُ مَا قُلْتُ أَنَا وَالنَّبِيُّونَ مِنْ قَبْلِي لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ لَهُ الْمُلْكُ وَلَهُ الْحَمْدُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ]
“ดุอาอฺที่ดีคือการขอดุอาอฺในวันอะรอฟะฮ์ และประโยคที่ดีที่ฉันและบรรดานบีในยุคก่อนใช้กล่าวกล่าวคือ
[ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ لَهُ الْمُلْكُ وَلَهُ الْحَمْدُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ ]
“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอก จากอัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว ไม่มีการตั้งภาคีใดๆร่วมกับพระองค์ การปกครองเป็นของพระองค์ และมวลการสรรเสริญเป็นของพระองค์ และพระองค์ทรงสามารถเหนือทุกสิ่ง”
(บันทึกโดยติรมีซียฺ มาลิก เชคอัลบานียฺ ระบุว่าเป็นหะดีษฮะซัน)
๕. วันนะหฺรุ
วันนะหฺรุ คือวันเชือด ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ส่วนใหญ่จะเรียกวันนี้ว่า”วันอีดิ้ลอัฏฮา” ซึ่งมีความประเสริฐดังนี้คือ
๕.๑. วันที่ดีวันหนึ่งในรอบปี
ท่านอับดุลลอฮ์บินกุรฏฺรอฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่าท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า أَعْظَمُ الْأَيَّامِ عِنْدَ اللَّهِ يَوْمُ النَّحْرِ
“หนึ่งในวันต่างๆที่ยิ่งใหญ่ ณ อัลลอฮ์คือวันเชือด”(บันทึกโดยอะหมัด อบูดาวุด )
๕.๒. วันนะหฺรุ คือวันอีดิ้ลอัฎฮา เป็นวันแห่งการกินและการดื่ม วันแห่งความสนุกสนานของประชาชาติอิสลาม ท่านร่อซูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
[ يَوْمُ عَرَفَةَ وَيَوْمُ النَّحْرِ وَأَيَّامُ التَّشْرِيْقِ عِيْدُنَا أَهْلَ الإِسْلاَمِ وَهِيَ أَيَّامُ أَكْلٍ وَشُرْبٍ]
“วันอะรอฟะฮ์ วันนะหฺรุและวันตัชรีก เป็นวันรื่นเริงของเราโอ้ชาวอิสลามมันคือวันแห่งการกิน และดื่ม “
๖. วันตัชรีก
วันตัชรีก คือสามวันหลังจากวันอีดิ้ลอัฎฮา คือวันที่ 11-12-13 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าวันตัชรีก เพราะผู้ที่เชือดสัตว์อุฎฮิยะฮ์ในวันอีดิ้ลอัฎฮาส่วนใหญ่จะนำเนื้อส่วนที่เหลือออกมาตากแดดให้แห้ง เพื่อเก็บรักษาไว้กินได้นานๆ
๗. การทำอุฎฮียะฮ์
อุฎฮียะฮ์คือ สิ่งที่จะถูกเชือดจากบรรดาสัตว์ใหญ่ในช่วงวันอีดิลอัฎฮาเพื่อสร้างความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ และเป็นพิธีกรรมหนึ่งของอิสลามที่ถูกกำหนดให้เป็นบัญญัติศาสนาโดยอัลกุรอาน สุนนะฮ์ของท่านเราะซูลุลลอฮิซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และมติของปวงปราชญ์อิสลามอัลลอฮ์ได้กล่าวว่า
[ فَصَلِّ لِرَبِّكَ وَانْحَرْ ]الكوثر :2
“และเจ้าจงละหมาดเพื่อองค์อภิบาลของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี” อัลเกาซัร/2
ในซอเฮียะฮ์บุคอรีและมุสลิม จากท่านอนัสอิบนฺมาลิกรอฎิยัลลอฮุอันฮุกล่าวว่า
[ ضَحَّي النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِكَبْشَيْنِ أَمْلَحَيْنِ ذَبَحَهُمَابِيَدِهِ وَسَمَّى وَكَبَّرَ وَضَعَ رِجْلَهُ عَلَى صَفَاحِهِمَا ]
“ท่านนบีซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ทำอุฎฮียะฮ์ด้วยแกะสองตัวสีเทามีเขา ท่านเชือดแกะทั้งสองด้วยมือของท่านเอง พร้อมกล่าวนามของอัลลอฮ์ (บิสมิลลาฮ์) และกล่าวตักบีรฺ (อัลลอฮุอักบัรฺ) โดยท่านรสูลวางเท้าบนสีข้างของแกะทั้งสอง”