เชคอับดุลลอฮ์ อัลบุคอรีย์

ชีวประวัติ : เชคอับดุลลอฮ์ อัลบุคอรีย์ หะฟีซอฮุลลอฮ์
แปลบทความโดย : อิบนิ ซีร็อจ อัลยัรมูกีย์ อัลมะดะนีย์ (วันที่ : 5/3/2025)

  • หมายเหตุ :รายละเอียดที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จะเป็นการสรุปความจากบทสัมภาษณ์ของเชคที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต

คำถามที่ 1 : ครูของเรา โปรดบอกพวกเราถึงชื่อเต็ม และเมืองเกิด

ผู้ตอบ : อัลฮัมดุลิ้ลลาฮิ ร็อบบิ้ลอาละมีน วัศศ่อลาตุ วัสสลามุ อะลา นะบียินา มุฮัมมัด วะอะลา อาลิฮี วะอัศฮาบิฮี อัฏฏ็อยยิบีน วัฏฏอฮิรีน วะอะลา อัตบาอิฮี อิลา เยามิดดีน ; จงฟังสิ่งที่ฉันจะพูดต่อไปนี้ :

  “ตามที่ผู้ถามร้องขอ ฉันจะตอบคำถามของท่านเกี่ยวกับประวัติโดยสรุป และขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงประทานความสำเร็จ และการชี้แนะแก่พวกเรา แท้จริง พระองค์ทรงได้ยินและตอบรับคำขอของเรา”

         ฉันชื่อ อับดุลลอฮ์ อิบนิ อับดุลร่อฮีม อิบนิ ฮุเซน อิบนิ มะฮ์มู๊ด อัสสะอ์ดี้ย์ อัลบุคอรีย์ อัลมะดีนี่ย์

         เชื้อสายสืบไปถึง ตระกูลสะอ์ด จากเมืองฏออิฟ ซึ่งฉันได้รับรู้มาจากบิดาของฉันคือ เชค อับดุลร่อฮีม และเขาได้รับฟังจาก บิดาของเขาที่ชื่อ เชค ฮุเซน และเขารับฟังมาจากบรรพบุรุษของเขา

         ฉันเกิดในเมืองมะดีนะฮ์ อัลมุเนาวะเราะฮ์ ภายในย่าน บาบุตตะมาร

คำถามที่ 2 : ครูของเรา โปรดเล่าถึงประวัติบิดาของท่านได้ไหมครับ ?

ผู้ตอบ : ความจำเป็นอย่างน้อยที่สุดที่ฉันต้องกระทำต่อบิดาของฉันคือ การอธิบายถึงสถานะของท่าน และแนะนำท่านให้ผู้ที่ไม่รู้จักท่านได้รับทราบ

         ดังนั้น ฉันขอกล่าวว่า :บิดาของฉันคือ อับดุลร่อฮีม อิบนิ ฮุเซน อิบนิ มะฮ์มู๊ด (ร่อฮิมะฮุลลอฮ์) ท่านเป็นเด็กกำพร้าที่เติบโตขึ้นในความดูแลของมารดาของท่านในช่วงเวลาที่อาณาจักรออตโตมันยังคงปกครองแคว้นฮิญาซ ท่านเรียนรู้การท่องจำอัลกุรอ่านตั้งแต่วัยเด็ก ในโรงเรียนการศึกษาพื้นฐาน และท่านได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนวิชาการศาสนา ท่านเป็นนักเรียนที่มีความสามารถ โดยสามารถตรวจสอบได้จากเอกสารจากโรงเรียนที่มีการรับรองไว้ และในขณะที่ทำงาน ท่านยังคงใส่ใจในการแสวงหาความรู้จากการเรียนการสอนในมัสยิดอันนะบะวีย์ และศึกษาจากบรรดาผู้รู้ในช่วงเวลานั้น

         ปรากฏว่า ท่านย้ายไปที่เมืองริยาฎ และเข้าทำงานภายในองค์กรของ กษัตริย์ อับดุลอะซีซ อาลสะอู๊ด ซึ่งท่านทำงานในตำแหน่งต่างๆ และเข้าร่วมหน่วยงานที่ดูแลการเผยแผ่ศาสนาในช่วงต้นปี ฮ.ศ.1374 (ปี ค.ศ.1955) โดยในช่วงนั้นประธานของหน่วยงานคือ เชค อุมัร อิบนิ ฮะซัน อาลุชเชค (ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานทั่วไปของหน่วยงานศาสนาในแคว้นนัจด์ และในภูมิภาคตะวันออก) และบิดาของฉันได้รับเอกสารรับรอง ซึ่งทางครอบครัวเรายังคงเก็บรักษาไว้พร้อมลายเซ็นของ เชค อุมัร (ที่ระบุถึง มารยาท เกียรติประวัติ และการรับรอง) โดยเอกสารฉบับนี้ระบุว่า : “พนักงานที่ระบุชื่อด้านบน (อาจารย์ มุฮัมมัด อับดุลร่อฮีม อิบนิ ฮุเซน อัลบุคอรีย์) เขาเติบโตขึ้นภายใต้การดูแลของเรา และเรานับเขาเป็นบุตรของเรา เรามั่นใจในเขาในอะกีดะฮ์ ความประพฤติที่ดี ความซื่อสัตย์ในศาสนา ความซื่อสัตย์ต่อรัฐบาลของเรา” และเอกสารฉบับนี้หมายเลข (2396/ม/ค) ลงนามวันที่ 25 รอมฎอน ฮ.ศ.1377

         ต่อมา บิดาของฉันได้ย้ายไปทำงานที่ศาลสูงสุดอิสลามในเมืองมะดีนะฮ์ เมื่อวันที่ 13 ซอฟัร ฮ.ศ.1380 ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าหน้าที่บันทึกการพิจารณาคดี ภายใต้การดูแลของปวงปราชญ์ และตุลาการของเมืองมาดีนะฮ์ โดยประธานศาลตอนนั้นคือ เชค อับดุลอะซีซ อิบนิ ซอและฮ์ และคุณพ่อยังได้รับ “เอกสารรับรองที่ยืนยันถึงความประพฤติที่ดี” จาก เชค อับดุลอะซีซ โดยที่ระบุว่า แท้จริง ท่านพ่อของเรา : “เป็นตัวอย่างของความขยันหมั่นเพียร และการทำงานที่มีความกระตือรือร้น พร้อมทั้งดำเนินการทุกหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างดีเยี่ยม” เอกสารรับรองนี้ลงนาม วันที่ 21 รอมฎอน ฮ.ศ.1392

         และต่อมา บิดาของฉันได้ย้ายไปทำงานที่มหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ ในวันที่ 1 ร่อบีอุษษานีย์ ฮ.ศ.1388 ภายใต้การบริหารงานโดย ท่านอิมาม อัลอัลลามะฮ์ เชค อับดุลอะซีซ อิบนิ อับดุลลอฮ์ อิบนิ บาซ และคุณพ่อได้รับ “เอกสารรับรองและการรับรอง” ที่ยังคงถูกเก็บรักษาไว้กับเรา โดยที่มีการลงนามจาก ท่านอิมาม เชค อับดุลอะซีซ อิบนิ บาซ โดยระบุว่า คุณพ่อ “มีความประพฤติที่ดี มีความขยันในการทำงาน” … เอกสารรับรองนี้มีหมายเลข (33) ลงนาม ณ วันที่ 27 ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ฮ.ศ.1392 และนอกจากนี้ คุณพ่อทำงานที่มหาวิทยาลัย จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 1 ร่อญับ ฮ.ศ.1407

         ท่านเสียชีวิต โดยมีบุตรทั้งหมด 13 คน ท่านเป็นผู้ที่เคารพอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบศาสนกิจ รักในการเรียนรู้ และให้เกียรติบรรดาผู้รู้ ท่านปฏิบัติตามซุนนะห์ และออกห่างจากการอุตรกรรมในศาสนา ท่านมีความเชื่อมั่นในคำสอนของ ชาวอะฮ์ลุซซุนนะฮ์ วัลญะมะอะห์ และท่านยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ ปวงปราชญ์สะละฟีย์จำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งจากพวกเขานั้นมีดังต่อไปนี้ : ท่านอิมาม อัลอัลลามะฮ์ ผู้เป็นนักอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน เชค มุฮัมมัด อัลอะมีน อัชชังกีฏีย์ (เจ้าของตำรา อัฎวาอุ้ลบะยาน) , ท่านอิมาม เชค อับดุลอะซีซ อิบนิ บาซ , และได้มีการติดต่อกับ อัลอัลลามะฮ์ ผู้เป็นนักฟิกฮ์ อับดุลเราะฮ์มาน อัสสะอ์ดี้ย์ โดยที่ เชคได้มอบของขวัญให้พ่อท่าน เป็นตำราต่างๆที่เชคเขียนด้วยมือของท่าน ซึ่งยังคงถูกเก็บรักษาไว้ที่เรา , และนอกจากนี้ยังมี อัลอัลลามะฮ์ ผู้เป็นนักฮะดีษ ฮัมมาด อัลอันซอรีย์ , ท่านอัลอัลลามะฮ์ ผู้เป็นนักฮะดีษ อับดุลมั๊วะฮ์ซิน อัลอับบาด , ท่านอัลอัลลามะฮ์ อัลมุญาฮิด มุฮัมมัด อะมาน อัลญามี่ย์ , อัลอัลลามะฮ์ ผู้เป็นนักฮะดีษ ร่อเบียะอ์ บิน ฮาดีย์ อัลมัดค่อลี่ย์ , อัลอัลลามะฮ์ ผู้เป็นนักฮะดีษ อุมัร อิบนิ มุฮัมมัด ฟัลลาตะฮ์ , และปวงปราชญ์อีกมากมาย

         การเสียชีวิตของท่านเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 23 ซุ้ลฮิจญะฮ์ ฮ.ศ.1422 ใกล้ทางเข้าประตูของมัสยิดอันนะบะวีย์ ในขณะที่ท่านกำลังถือศีลอด อันเป็นช่วงก่อนที่จะถึงเวลาละศีลอด

         ดังนั้น ขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงโปรดเมตตาท่าน และโปรดให้ท่านได้เข้าสู่สวนสวรรค์ของพระองค์ด้วยเถิด อามีน

คำถามที่ 3 : ครูของเรา โปรดเล่าถึงการแสวงหาวิชาความรู้ และบรรดาคณาจารย์ของท่านได้ไหมครับ ?

ผู้ตอบ : อัลลอฮ์ทรงเมตตาฉันให้เติบโตขึ้นในอ้อมกอดของ บิดา-มารดา ผู้มีเกียรติทั้ง 2 ท่าน ที่มีความเอาใจใส่อย่างยิ่งในการอบรมดูแลพวกเราให้เติบโตอย่างถูกต้องและเที่ยงตรง (ด้วยความกรุณาของพระองค์) บิดาของฉันมักจะอบรมพวกเราในเรื่องราวของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละหมาดร่วมกัน (ละหมาดญะมาอะฮ์) และท่านต่อต้านการกระทำที่เป็นสิ่งอุตริกรรม (บิดอะฮ์) รวมถึง ต่อต้านผู้ที่กระทำ อาทิ : การเฉลิมฉลองเมาลิดนบี เป็นต้น ท่านจะตักเตือนพวกเราให้หลีกเลี่ยงจากสิ่งเหล่านั้น และอ้างอิงฟัตวาของปวงปราชญ์ อาทิ : ท่านอิมาม อับดุลอะซีซ บิน บาซ และปวงปราชญ์ท่านอื่นๆ สิ่งเหล่านี้มีผลสำคัญในการกระตุ้นให้ฉันตั้งใจศึกษา และเริ่มต้นการท่องจำอัลกุรอ่านที่มัสยิดอิมามอัลบุคอรีย์ ซึ่งบิดาของฉันเป็นผู้ดูแลในช่วงแรกๆที่ฉันกำลังเรียนในระดับประถมศึกษา หลังจากนั้น มีการยุติการเรียนเล็กน้อย แต่ฉันก็สามารถกลับมาท่องจำต่อไปได้ ด้วยความกรุณาของพระองค์

         ฉันชื่นชอบในวิชาศาสตร์ฮะดีษตั้งแต่วัยเด็ก ฉันพยายามศึกษาหนังสือฮะดีษ และตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่เข้าใจ พร้อมทั้งท่องจำสิ่งที่สามารถกระทำได้ … (ขอพระองค์ทรงโปรดเมตตา) … และนอกจากนี้ ฉันยังให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ในการศึกษาวิชาอะกีดะฮ์ เพื่อให้เข้าใจในความสำคัญของมัน ฉันจึงมุ่งมั่นศึกษาและเข้าร่วมกลุ่มเรียนที่มัสยิดนบี (ได้เข้าเรียนวิชาอะกีดะฮ์ กับบรรดาคณาจารย์ ณ มัสยิดอันนะบะวีย์)

         ที่นี้ฉันอยากจะกล่าวว่า : ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คณาจารย์แต่ละท่านนั้น ล้วนเป็นเสาหลักต้นกำเนิดทางวิชาการศาสนา และฉันจะกล่าวถึงเพียงบางท่านที่ฉันได้ศึกษา ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากพวกท่านเหล่านั้น และฉันขอขอบคุณต่ออัลลอฮ์สำหรับความเมตตา และขอพระองค์ทรงตอบแทนรางวัลให้พวกท่านอย่างมากมาย … (หมายเหตุ : ผู้แปลจะขอนำเสนอรายชื่อเพียงบางส่วน และจะนำเสนอในรูปแบบสรุปความ มิได้นำเสนอทั้งหมด)

ครูวิชาอัลกุรอ่าน และ วิชาตัจญวีด

  • เชค สัยยิด ลาชีน อบุ้ลฟะร็อจญ์ :ฉันได้รับประโยชน์จากท่านอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการอ่านอัลกุรอ่านอย่างถูกต้องสมบูรณ์ และรูปแบบการใช้ตัจญวีดอย่างถูกต้อง

  • เชค มุฮัมมัด อัลมุรซีย์ : ท่านเคยทำงานเป็นนักเขียนค็อฏที่มหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ และเป็นอิมามประจำมัสยิดอิมามอัลบุคอรีย์ ฉันได้ศึกษาการอ่านอัลกุรอ่าน และได้เรียนวิชาตัจญวีดจากท่าน โดยศึกษาจากตำรา “อัลบุรฮาน ฟี ตัจญวีด อัลกุรอ่าน” เขียนโดย ศอดิ๊ก ก็อมฮาวีย์ อีกทั้ง ฉันได้เรียนการเขียนอักษรอาหรับ ทั้งในด้านทฤษฎี และในด้านการปฏิบัติ รวมถึง ได้ศึกษาวิชานะฮูจากท่าน โดยเรียนตำรา “อัลอาญุรรูมียะฮ์”

  • เชค บักรีย์ อิบนิ อับดุลมะญีด อัฏฏ่อรอบีชีย์ :ฉันได้รับการอิญาซะฮ์การอ่านอัลกุรอ่านจากท่าน รวมถึง สิ่งที่ท่านได้เรียนมาจากอาจารย์ของท่าน

ครูวิชาการด้านอื่นๆนอกจากนี้

  • ครูของฉัน อัลอัลลามะฮ์ ผู้ตักเตือน ผู้สัจจริง “มุฮัมมัด อะมาน อัลญามี่ย์” : ฉันได้ศึกษาวิชาความรู้จากท่านมากกว่า 10 ปี และได้เรียนตำหรับตำราต่างๆมากมายหลากหลายศาตร์จากท่าน อาทิ : ทางด้านอะกีดะฮ์ , ด้านฮะดีษ และอีกมากมาย ตามที่ท่านได้ระบุไว้ใน (คำรับรองจากท่าน) ที่ฉันรักษาไว้และภูมิใจอย่างยิ่ง โดยตำราบางเล่มที่ฉันได้ศึกษากับท่านมีดังนี้ อัลอุศูล อัษษะลาษะฮ์ , อัลก่อวาอิด อัลอัรบะอะฮ์ , และกิตาบุตเตาฮีด ของ ท่านชัยคุ้ลอิสลาม มุฮัมมัด อิบนิ อับดุลวะฮาบ รวมถึง อธิบายตำราทั้ง 2 ที่อธิบายกิตาบุตเตาฮีด คือ ฟัตฮุ้ลมะญีด และ กุรร่อตุ อุยูน อัลมุวะฮิดีน , ตัจญรีด อัตเตาฮีด ของ อัลมักรีซีย์ , อัลวาสิฏียะฮ์  , อัลฮะมะวียะฮ์  และอัตตัดมุรียะฮ์ ของ ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะฮ์ , อธิบาย อัลอะกีดะฮ์ อัฏฏ่อฮาวียะฮ์ ของ อิบนิ อบิ้ลอิซ อัลฮะนะฟีย์ , อัลก่อวาอิด อัลมุษลา ของ อิบนิ อุซัยมีน , ตำรา อัลอาญุรรูมียะฮ์ , รวมถึง บทต่างๆจากตำรา นัยลุ้ลเอาฏอร , ตำรา ซาดุ้ลมะอาด , การถือศีลอด จาก ซ่อเฮียะฮ์อัลบุคอรีย์ , ตำรา อุมดะฮ์ อัลอะฮ์กาม ของ อัลมักดิสี่ย์ , และอื่นๆ … โดยส่วนใหญ่เรียนที่มัสยิดอันนะบะวีย์ และบางส่วนเรียนที่มัสยิดต่างๆโดยรอบบ้านของท่าน หรือภายในมัสยิดอัศศอเนี๊ยะอ์ ในย่านอัลมะศอเนี๊ยะอ์

  • ครูของเรา อัลอัลลามะฮ์ “อับดุลมั๊วะฮ์ซิน อิบนิ ฮะมัด อัลอับบาด” : ฉันได้ศึกษาวิชาความรู้จากท่านมากกว่า 16 ปี และได้ทันเรียน ตำราซ่อเฮียะฮ์มุสลิมเล่มสุดท้าย หลังจากนั้น ฉันได้ติดตามเรียน ซ่อเฮียะฮ์อัลบุคอรีย์ , สุนั่นอันนะซาอีย์ , สุนั่นอบูดาวู๊ด , เนื้อหาส่วนใหญ่จาก ญาเมี๊ยะอ์ติรมีซีย์ และนอกจากนี้ ฉันได้เข้าเรียนกับท่านในช่วงเดือนรอมฎอน นั่นคือการอธิบายตำรา อัลลุลุอุวัลมัรญาน แต่เรียนไม่จบเล่ม อีกทั้ง ฉันได้เข้าเรียนกับท่านในช่วงฤดูร้อน นั่นคือเป็นการอธิบายตำรา อะกีดะฮ์ อิบนิ อบีซัยด์ อัลก็อยร่อวานี่ย์ , อธิบายมารยาทการเดินไปละหมาด , และอีกมากมาย โดยทั้งหมดเรียนในมัสยิดอันนะบะวีย์ … อีกทั้ง ในช่วงฮัจญ์ปี ฮ.ศ.1420 ณ เต้นท์การตักเตือนอิสลามที่มินา ฉันได้อ่านส่วนหนึ่งจากบทอัลฮัจญ์ จากตำราชัรฮ์ซุนนะห์ ของท่านอัลบะฆอวีย์ ให้ท่านฟังเพื่อการอธิบาย และในช่วงฮัจญ์ปี ฮ.ศ.1421 ณ เต้นท์การตักเตือนอิสลามที่มินา ฉันได้อ่านคำตอบของ เชค มุฮัมมัด บิน ซอและฮ์ อัลอุซัยมีน ที่เกี่ยวข้องกับการทำฮัจญ์จากหนังสือ อัรกานุ้ลอิสลาม ฉบับที่ถูกรวบรวมและเรียบเรียงโดย ฟะฮัด บิน นาซิร อัสสุลัยมาน ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ดารุษษะรอยา ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งท่านได้อธิบายความคิดเห็นเพิ่มเติมในหลายข้อระหว่างการอ่าน และการสอนครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมมากมาย อาทิ : ครูของเรา เชค อาลี อิบนิ นาซิร อัลฟะกีฮีย์ , เชค ซอและฮ์ อิบนิ สะอ์ด อัสสุฮัยมีย์ , เชค อับดุศ่อมัด อัลกาติบ , เชค อะฮ์มัด อับดุลวะฮาบ และอีกมากมาย

  • อัลอัลลามะฮ์ ผู้เป็นนักฮะดีษ “เชค ร่อเบียะอ์ อิบนิ ฮาดีย์ อัลมัดค่อลี่ย์“ : พวกเราได้เรียนกับท่านภายในมัสยิดที่อยู่โดยรอบบ้านพักของท่าน ในย่านอัลอัซฮะรี่ย์ คือบทนำของ ตำราซ่อเฮียะฮ์มุสลิม , อัตตักยีด วัลอีฎอฮ์ ของ ท่านอัลฮาฟิษ อัลอิรอกีย์ , เอี๊ยะอ์ลาม อัลมุวักกิอีน ของ อิมาม อิบนิ อัลก็อยยิม , อิคติศอร อุลูมิ้ลฮะดีษ ของ อัลฮาฟิษ อิบนิ กะษีร

  • อัลอัลลามะฮ์ ผู้เป็นนักฟิกฮ์  “อะฏียะฮ์ อิบนิ มุฮัมมัด ซาลิม” : ฉันเข้าเรียน มุซักกิเราะฮ์ ฟีอุซูลุ้ลฟิกฮ์ ของ อัชชังกีฏีย์ , บางส่วนจาก อัรเราะฮ์บียะฮ์ ฟิ้ลฟะรอเอ็ฎ , และชัรฮ์อัลวะร่อกอต … ทั้งหมดเรียนในมัสยิดอันนะบะวีย์

  • อัลอัลลามะฮ์ ผู้เป็นนักฮะดีษ “เชค อะฮ์มัด อิบนิ ยะฮ์ยา อันนัจญมี่ย์” : ฉันได้เข้าร่วมการเรียน ตำราสุนั่นอบูดาวู๊ด ที่บ้านของ เชค ดร.มุฮัมมัด อิบนิ ฮาดีย์ อัลมัดค่อลีย์ ซึ่งท่านอาจารย์ (เชค อะฮ์มัด) ได้อธิบายส่วนหนึ่งจาก ตำราสุนั่นอบูดาวู๊ด และท่านได้ให้ใบอนุญาต (อิญาซะฮ์) แก่ฉัน โดยเป็นใบอนุญาตสำหรับการบันทึกและการรายงานทุกคำสอนของท่าน ดังที่ปรากฏในตำรา อินาละห์ อัฏฏอลิบีน บิอะซานีด กุตุบ อัลมุฮัดดิษีน

  • ครูของเรา ผู้ทรงเกียรติ “อุบัยด์ อิบนิ อับดุลลอฮ์ อัลญาบิรี่ย์” : ฉันได้อ่าน ตำรา มุซักกิเราะฮ์ ฟีอุซูลุ้ลฟิกฮ์ ของ เชค อัชชังกีฏีย์ และตำรา อัสสัยล์ อัลญะรอร ของ ท่านอิมาม อัชเชากานี่ย์ ให้ท่านฟัง เพื่อการอรรถาธิบาย

  • และสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ฉันขอแจ้งว่า แท้จริง ทุกท่านที่ได้สอนฉันใน คณะฮะดีษ ที่มหาวิทยาลัย ถือเป็นอาจารย์ของฉันทั้งหมด และพวกเขามีจำนวนมากมาย ขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงตอบแทนความดีงามให้พวกเขาทั้งหมดด้วยเถิด แต่ฉันได้กล่าวถึงเฉพาะเพียงบางส่วนที่ฉันได้เรียนกับพวกท่านภายนอกห้องเรียนของมหาวิทยาลัย และยังมีบางท่านอีกที่ฉันได้เรียนกับท่านภายนอกมหาวิทยาลัย แต่ฉันจะไม่ยกย่องพวกเขาเป็นพิเศษ เนื่องจาก มีเหตุผลบางประการที่ไม่เหมาะสมที่จะพูดถึงในที่นี้

คำถามที่ 4 : ครูของเรา ท่านได้รู้จัก อัลอัลลามะฮ์ อับดุลอะซีซ บิน บาซ , อัลอัลลามะฮ์ มุฮัมมัด อัลอุซัยมีน , อัลอัลลามะฮ์ อัลอัลบานีย์ หรือไม่ ?

ผู้ตอบ : แท้จริง รายชื่อเหล่านี้ที่พวกท่านกล่าวถึงนั้น ถือเป็นเกียรติของผู้ที่ยึดมั่นในซุนนะฮ์ พวกเขาคือผู้นำ (อิมาม) และสัญลักษณ์ของซุนนะฮ์ และคนหนึ่งย่อมมีเกียรติหากได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับพวกเขา … ดังนั้น ฉันจึงขอกล่าวว่า : แท้จริง ปราชญ์ท่านหนึ่งที่ฉันถือว่า เขาเป็นอาจารย์ของฉันคือ :

         อัลอัลลามะฮ์ อิมาม ชัยคุ้ลอิสลาม อับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮ์ บิน บาซ โดยที่ ได้เข้าร่วมฟังบางส่วนของการบรรยายของท่าน ณ มัสยิดของท่านที่เมืองฎออิฟ ในช่วงฤดูร้อนปี ฮ.ศ.1408 ท่านอธิบายหนังสือ “บูลูฆุลมุรอม” ของ ท่านอิมาม อิบนิ ฮะญัร และฉันได้เข้าร่วมการพบปะหลายครั้ง และได้ถามท่านหลายคำถาม อีกทั้ง ได้เข้าร่วมการอ่านหนังสือ “ตั๊วะฮ์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์ ชัรฮ์ ญาเมี๊ยะอ์” ที่บ้านของท่านในเมืองฎออิฟ โดยฉันเป็นคนที่ 3 ที่เข้าร่วมในการบรรยาย โดยในสถานที่นั้นมีเพียงท่าน  ผู้อ่าน และฉันเท่านั้น ดังนั้น ฉันขอขอบคุณพระองค์อัลลอฮ์ ที่ทรงให้ฉันได้รับเกียรตินี้ และฉันจำได้ว่า ในปีหนึ่งเมื่อฉันได้ถามท่านเกี่ยวกับการเรียนที่มหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ ท่านได้สนับสนุนให้ฉันเข้าเรียน และเมื่อฉันได้ถามเกี่ยวกับคณะฮะดีษ ท่านจึงให้กำลังใจฉันอีกด้วย ขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงเมตตาท่านด้วยเถิด

         และต่อมาคือ อัลอัลลามะฮ์ อัลฟะฮามะห์ ผู้เป็นนักฟิกฮ์ เชค มุฮัมมัด บิน ซอและฮ์ อัลอุซัยมีน โดยฉันได้เข้าร่วมการบรรยายของท่าน ณ มัสยิดฮะรอม ในช่วง 10 วันสุดท้าย ของเดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ.1407 เชคท่านได้อธิบายฮะดีษญิบรีล ในหนังสือซ่อเฮี๊ยะฮ์มุสลิม และได้จดบันทึกประโยชน์ที่ได้จากท่านไว้ทั้งหมด นอกจากนี้ ฉันยังเดินทางไปหาท่านที่ ตำบลอุนัยซะฮ์ ในช่วงฤดูร้อนเพื่อเข้าฟังการบรรยายช่วงฤดูร้อนของท่าน ในปี ฮ.ศ.1408 และปี ฮ.ศ.1409 ฉันได้เข้าร่วมการบรรยายทั้งหมด ที่ท่านได้จัดขึ้นภายในมัสยิดอันนะบะวีย์ พร้อมทั้ง ได้ติดตามท่านในทุกการบรรยาย

         นอกจากนี้ ฉันมีความยินดีที่ได้พบกับอิมามผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นปราชญ์ด้านฮะดีษ อัลอัลลามะฮ์ มุฮัมมัด นาซิรุดดีน อัลอัลบานีย์ ในช่วงที่ท่านมาเยี่ยมเมืองมะดีนะฮ์ในปี ฮ.ศ.1408 และท่านได้กลับมาเยี่ยมอีกครั้งในภายหลัง โดยฉันได้เข้าร่วมการพบปะโดยสาธารณะของท่านทุกครั้ง รวมถึง บางครั้งที่เป็นการพบปะแบบส่วนตัวด้วย และฉันยังได้รับเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พบกับท่านโดยลำพังในวันหนึ่งภายหลังจากการละหมาดซุฮ์ริ ครั้นเมื่อ ท่านออกจากมัสยิดอันนะบะวีย์เดินกลับไปยังที่พัก ฉันได้ถามท่านหลายคำถาม และท่านได้จับมือฉัน และผสานมือของฉันกับมือขวาของท่าน ท่านถามชื่อของฉัน และการศึกษาของฉัน และท่านได้พาฉันเดินอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งไปถึงที่บ้านของท่าน ดังนั้น ฉันจึงได้ขออนุญาต และปลีกตัวออกมา

         ดังนั้น ฉันขอขอบคุณพระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ทรงทำให้ฉันได้รับโอกาสเหล่านี้ … และฉันขอต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ผู้ทรงเมตตากรุณาอย่างกว้างขวาง โปรดทรงเมตตาปวงปราชญ์ของพวกเราทั้งหมดทุกท่านด้วยเถิด อามีน

คำถามที่ 5 : ครูของเรา ท่านสามารถบอกเราได้หรือไม่ว่า ใครบ้างที่ได้ให้อนุญาต (การอิญาซะฮ์) แก่ท่านจากบรรดาปราชญ์ทั้งหลาย ?

ผู้ตอบ : ฉันให้ความสำคัญต่อการขอใบอนุญาต (การอิญาซะฮ์) ตามเงื่อนไขของมันตามที่ได้ถูกกำหนดไว้เท่าที่ฉันสามารถจะกระทำได้ ที่มาจากการอ่าน หลังจากนั้น จึงขอการอิญาซะฮ์ … และก่อนหน้านี้ ฉันกล่าวถึงผู้ที่ให้อิญาซะฮ์แก่ฉันไว้แล้วบางส่วน อันได้แก่ :

  1. เชค บักรีย์ อิบนิ อับดุลมะญีด อัฏฏ่อรอบีชีย์
  2. เชค อะฮ์มัด อิบนิ ยะฮ์ยา อันนัจญมี่ย์
  3. เชค ศอฟียุรเราะฮ์มาน อัลมุบาร็อกฟูรี่ย์
  4. อัชเชค อัลอัลลามะฮ์ มุฮัดดิษ อบูมุฮัมมัด บะดีอุดดิน อัชชาฮ์ อัรรอชิดีย์ อัซซินดีย์ อัชชะรีฟ ท่านได้เขียนจดหมายตอบกลับฉัน ภายหลังจากที่ ฉันเขียนจดหมายถึงท่าน และท่านได้ลงนามไว้ ณ วันที่ 15 ร่อญับ ฮ.ศ.1416 หลังจากนั้น ท่านได้เสียชีวิตในวันที่ 18 ชะอ์บาน ฮ.ศ.1416 ซึ่งห่างจากวันที่ท่านตอบกลับเพียง 1 เดือน 3 วัน ดังนั้น ขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงเมตตาท่านด้วยความเมตตายิ่ง อีกทั้ง ท่านยังส่งงานรวบรวมของท่านที่มีชื่อว่า “มุนญิด อัลมุสตะญีซ ลิริวายะฮ์ อัซซุนนะฮ์ วัลกิตาบ อัลอะซีซ” ให้แก่ฉัน

         และนอกจากนี้ ยังมีปวงปราชญ์ท่านอื่นๆอีกมากมาย ที่ให้การอนุญาต (การอิญาซะฮ์) แก่ฉัน และส่งหนังสือมาให้โดยที่ฉันไม่ได้ขอ แต่ฉันก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบุคคลกลุ่มดังกล่าวมากนัก

คำถามที่ 6 : ครูของเรา ท่านสามารถบอกพวกเราถึงวุฒิการศึกษาของท่านได้หรือไม่ครับ ?

ผู้ตอบ : วุฒิการศึกษาของฉัน มีดังต่อไปนี้ :

  • ฉันได้รับปริญญาจากคณะฮะดีษ และการศึกษาศาสนาอิสลาม ในปีการศึกษา ฮ.ศ.1410/1411 ด้วยเกรด ดีมาก (ญัยยิด ญิดดัน)
  • ฉันเคยสอนในกระทรวงการศึกษา (ในอดีต) และกระทรวงศึกษาธิการ (ในปัจจุบัน) ในฐานะครูสอนวิชาการศึกษาศาสนาอิสลามเป็นระยะเวลา 6 ปี ในระดับมัธยมต้น และมัธยมปลาย
  • ฉันศึกษาหลักสูตรปีแรกของระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอ นครมักกะห์ สาขาอัลกุรอ่านและซุนนะฮ์ ในคณะการเผยแผ่อิสลามและศาสนศาตร์ ในปี ฮ.ศ.1417 และได้รับเกรดในระดับที่ ดีเยี่ยม (มุมตาซ) พร้อมเกียรติบัตรแสดงถึงความยอดเยี่ยม
  • ฉันได้เขียนวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท เรื่อง “สิ่งที่ถูกรายงานจาก อบีอุบัยดะฮ์ อิบนิ อับดุลลอฮ์ อิบนิ มัสอู๊ด จากบิดาของเขา การรวบรวมและศึกษา” และได้ทำการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ ในวันที่ 21 ชะอ์บาน ฮ.ศ.1420 โดยได้รับคะแนนเกียรตินิยม (ยอดเยี่ยม พร้อมคำแนะนำให้ทำการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์)
  • ฉันได้ย้ายจากกระทรวงการศึกษา มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ในปี ฮ.ศ.1418 โดยที่ ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยประจำคณะฮะดีษ สาขาฟิกฮุซซุนนะห์และแหล่งที่มาของมัน
  • ฉันได้รับปริญญาเอก ในปี ฮ.ศ.1426 และวิทยานิพนธ์ของฉันมีชื่อว่า “การเพิ่มเติมการอธิบายของอัตติรมีซีย์ โดย อัลฮาฟิษ อัลอิรอกีย์” โดยเริ่มการตรวจสอบตั้งแต่ บทที่เกี่ยวข้องกับ การให้นมบุตร ไปจนถึง ตอนท้ายของบทการซื้อขาย ซึ่งฉันได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 (อันดับสูงสุด)
  • ฉันทำงานในปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาฟิกฮุซซุนนะห์และแหล่งที่มาของมัน ที่คณะฮะดีษและการศึกษาศาสนาอิสลาม

คำถามที่ 7 : ครูของเรา ท่านสามารถบอกพวกเราถึงตำราต่างๆของท่าน ที่ท่านได้ประพันธ์หรือไม่ครับ ?

ผู้ตอบ : ไม่มีข้อสงสัยว่า แท้จริง การมีส่วนร่วมในการจดบันทึก และการเผยแผ่ความรู้นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากอย่างยิ่ง โดยแน่นอน พระองค์อัลลอฮ์ ได้ทรงประทานความโปรดปรานนี้มาให้ฉันมาซักระยะหนึ่งแล้ว ฉันได้เขียนหนังสือวิชาการหลากหลายเล่ม เพื่อหวังจะเผยแผ่วิชาความรู้ ดังนั้น ฉันขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงตอบรับและให้การช่วยเหลือ และฉันจะขอกล่าวถึงตำราบางเล่มที่ฉันได้เขียนไว้ ดังต่อไปนี้ (หมายเหตุ ผู้แปลจะขอนำเสนอรายชื่อเพียงบางส่วน และจะนำเสนอในรูปแบบสรุปความ มิได้นำเสนอทั้งหมด) :

  1. หนังสือ مرويات أبي عبيدة بن عبدالله بن مسعود عن أبيه جمعاً ودراسة / งานประพันธ์ / ได้ถูกตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้โดย สำนักพิมพ์ อัฎวาอุสสะลัฟ ประเทศอียิปต์
  • หนังสือ تكملة شرح الترمذي للحافظ العراقي / งานตรวจสอบพิสูจน์ / ไม่ได้ถูกตีพิมพ์
  • หนังสือ إتحاف النبلاء بأدلة تحريم إتيان المحل المكروه من النساء / งานประพันธ์ / ถูกตีพิมพ์ในปี ฮ.ศ. 1414 โดยสำนักพิมพ์ อัลฆุร่อบาอ์ ณ เมืองมะดีนะฮ์ อันนะบะวีย์ ประเทศซาอุดิอารเบีย และตีพิมพ์อีกครั้งโดย สำนักพิมพ์ ดารุ้ลมินฮาจ ประเทศอียิปต์ ในปี ฮ.ศ.1428
  • หนังสือ رياض الجنة بتخريج أصول السنة لابن أبي زمنين / งานตรวจสอบพิสูจน์ และถูกคัดแยก / ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ อัลฆุร่อบาอ์ ในปี ฮ.ศ.1414 และตีพิมพ์อีกครั้งที่ สำนักพิมพ์ อัฎวาอุสสะลัฟ ประเทศอียิปต์
  • หนังสือ الفتح الرباني في الرد على أبي الحسن السليماني / งานประพันธ์ / ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ดารุ้ลอาษาร ประเทศเยเมนในปี ฮ.ศ.1424 และถูกตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี ฮ.ศ.1425 โดยสำนักพิมพ์ ดารมาญิดอะสีรี่ย์ ในเมืองญิดดะฮ์
  • หนังสือ المقالات الشرعية (المجموعة الأولى) / งานประพันธ์ / ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ อัลอิสติกอมะฮ์ ประเทศอียิปต์ ในปี ฮ.ศ.1429
  • หนังสือ ما هي السلفية / งานประพันธ์ / ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ อัลอิสติกอมะฮ์

คำถามที่ 8 : ครูของเรา ท่านสามารถบอกพวกเรา เกี่ยวกับหนังสือต่างๆที่ท่านสอนได้หรือไม่ครับ ?

ผู้ตอบ : สำหรับคำถามนี้ ฉันขอตอบว่า การสอนหนังสือของฉันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท: หนังสือที่ฉันได้สอนจนจบแล้ว และหนังสือที่ฉันยังสอนไม่เสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้หนังสือที่ฉันสอนนั้น ได้แก่ (หมายเหตุ ผู้แปลจะขอนำเสนอรายชื่อเพียงบางส่วน และจะนำเสนอในรูปแบบสรุปความ มิได้นำเสนอทั้งหมด) :

  1. ฟัตฮุ้ลมะญีด บิชัรฮิ กิตาบุตเตาฮีด (فتح المجيد بشرح كتاب التوحيد)
  2. อัลอุศูล อัษษะลาษะฮ์ (الأصول الثلاثة)
  3. อัลก่อวาอิด อัลอัรบะอะฮ์ (القواعد الأربعة)
  4. อัลอุศูล อัสสิตตะฮ์ (الأصول الستة)
  5. กิตาบุตเตาฮีด มินซ่อเฮียะฮ์ อัลบุคอรีย์ (كتاب التوحيد من صحيح البخاري)
  6. กิตาบุ้ลอีมาน มินซ่อเฮียะฮ์ อัลบุคอรีย์ (كتاب الإيمان من صحيح البخاري)
  7. มุคตะศ็อร ซ่อเฮียะฮ์ อัลบุคอรีย์ ของ อัซซุบัยดี้ย์ (مختصر صحيح البخاري للزبيدي)
  8. อัลเมากิเซาะฮ์ ของ อัลฮาฟิษ อัซซะฮะบีย์ (الموقظة للحافظ الذهبي)
  9. มันฮัจญ์ อัสสาลิกีน ของ อัสสะอ์ดี้ย์ (منهج السالكين للعلامة السعدي)
  10. อุมดะฮ์ อัลอะฮ์กาม ของ อัลมักดิสี่ย์ (عمدة الأحكام)
  11. อัลวาบิลุศศ็อยยิบ มินัล กะลิมิฏฏ็อยยิบ (الوابل الصيب من الكلم الطيب)
  12. อัรริซาละฮ์ อัตตะบูกียะฮ์ ของ อิบนิ อัลก็อยยิม (الرسالة التبوكية لابن القيم)
  13. อัลอัรบะอีน อันนะวะวียะฮ์ (الأربعين النووية)
  14. มะตั่น นะฮู อัลอาญุรรูมียะฮ์ (متن الآجرومية)

         หวังว่าจะพอเพียงแล้วในส่วนนี้ ดังนั้น ฉันจะขอยุติ (การเล่าถึงประวัติส่วนตัว) เพียงเท่านี้ ฉันขอต่อพระองค์อัลลอฮ์โปรดทรงสอนเรา ด้วยความรู้ที่ยังประโยชน์ และทรงให้เรามีความรู้ที่เป็นประโยชน์ และทรงประทานความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เรา แท้จริงแล้ว พระองค์เป็นผู้ทรงเมตตาและทรงกรุณา

สิ้นสุดบทสัมภาษณ์ ชีวประวัติของ เชค อับดุลลอฮ์ อัลบุคอรีย์

คำกล่าวของปวงปราชญ์ถึงท่าน

         เชค ร่อเบียะอ์ อิบนิ ฮาดีย์ อัลมัดค่อลี่ย์ กล่าวว่า :

 ฉันขอแนะนำให้เยาวชนภายในเมืองมะดีนะฮ์ เข้าร่วมบทเรียนของ เชค อับดุลลอฮ์ อัลบุคอรีย์ เพราะเขาคือบุคคลที่ดีที่สุด ในหมู่ผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางแห่งซุนนะฮ์ เขาคือผู้ที่ต่อสู้ปกป้องซุนนะฮ์ในทุกโอกาสที่ฉันได้รู้มา เขาเขียนและทำงานอย่างหนักในการปกป้องซุนนะฮ์ และปกป้องผู้ที่ยึดมั่นในมัน ทั้งนี้ ผู้ที่ต่อต้านเขาส่วนมากคือ พวกอารมณ์นิยม และนิยมอุตริกรรมใหม่ๆ เพราะเขา (อับดุลลอฮ์) เป็นคนหนึ่งที่ดีที่สุดของผู้ที่ยึดมั่นในซุนนะฮ์ ฉันขอต่ออัลลอฮ์ทรงให้พวกเราทุกคนยึดมั่นในแนวทางซุนนะฮ์ ให้เราและเขายังประโยชน์แก่กัน ฉันทราบว่า เขาคือสะละฟีย์ที่ดี แต่ทุกคนล้วนมีข้อผิดพลาด และผู้ที่กลับตัวจากความผิดคือผู้ที่ดีที่สุด ดังนั้น จงเข้าเรียนกับบุคคลท่านนี้ เพราะเขาคือหนึ่งในบัณฑิตที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ และผู้ถือปริญญาโท ตอนนี้ฉันคิดว่าเขาน่าจะกำลังศึกษาปริญญาเอก เขาคือคนหนึ่งที่ฉลาดที่สุด และมีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับแนวทางสะละฟีย์ ดังนั้น จงเข้าร่วมเรียนรู้จากเขาเถิด

         เชค อุบัยด์ อิบนิ อับดุลลอฮ์ อัลญาบิรี่ย์ กล่าวว่า :

เชค อับดุลลอฮ์ อิบนิ อับดุลร่อฮีม อัลบุคอรีย์ คือพี่น้องของเรา และเป็นผู้ที่เรารัก รวมถึง เป็นสหายของเรา และไม่เกินจริงเลย ถ้าฉันจะบอกว่า เขาสมควรได้รับการเรียกว่าเป็น อัลอัลลามะฮ์ เขาคือผู้ที่ยึดมั่นในซุนนะห์ มีความเข้าใจในเรื่องฮะดีษและฟิกฮ์ และอาศัยหลักฐานเป็นหลักในการตัดสินใจ ฉันรู้จักเขามากว่า 15 ปี หรืออาจจะเกือบ 20 ปี แต่ที่ฉันสามารถจำได้คือในตอนนี้ แต่ข้อผิดพลาดของเขาต่อพวกที่วิจารณ์เขาคือ เขาตอบโต้บางกลุ่มที่มีความคิดหลงผิด และผสมผสานแนวคิดที่ผิดเพี้ยน โดยการนำหลักการและทฤษฎีที่ผิดมานำเสนอแก่ผู้คนในบางครั้ง ซึ่งเขาก็ได้ปฏิเสธสิ่งเหล่านั้นไป นี่คือข้อผิดพลาดของเขา ดังนั้น จงเข้าเรียนกับเขาและรับประโยชน์จากเขาเถิด ขออัลลอฮ์ทรงประทานบะรอกัตให้พวกท่านทั้งหลาย ท่านรู้แล้วถึงเหตุผลของเรื่องนี้ และมีคำกล่าวที่ว่า ในเมื่อรู้เหตุผลแล้ว ความแปลกใจย่อมหมดไป เขาถูกกล่าวหาด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงรู้ว่าเขาไม่เป็นเช่นนั้น แต่ทว่าผู้ที่วิจารณ์เขานั้น ล้วนต่างบ้าคลั่ง เล่นพรรคเล่นพวก เปี่ยมไปด้วยการโกหก และตาบอดจากสัจธรรม

         เชค อุบัยด์ อิบนิ อับดุลลอฮ์ อัลญาบิรี่ย์ ได้กล่าวปกป้อง เชค อับดุลลอฮ์ อิบนิ อับดุลร่อฮีม อัลบุคอรีย์ ความว่า :

 ดังนั้น เราจะขอกล่าวกับบรรดาผู้ที่วิจารณ์เขาว่า แท้จริง พวกท่านล้วนเป็นผู้ที่ก้าวร้าวละเมิดสิทธิ์ และเราขอกล่าวว่า สำหรับพวกท่าน จะต้องสิ้นชีพกันหมดด้วยกับความเคียดแค้นของพวกท่านเองในเร็ววันนี้ อินชาอัลลอฮุตะอาลา

นี่เป็นเพียงตัซกียะฮ์บางส่วนที่ เชค อับดุลลอฮ์ ได้รับจากปราชญ์ซุนนะฮ์

         หมายเหตุ : การตัซกียะฮ์ของ เชค ร่อเบียะอ์ อัลมัดค่อลี่ย์ ที่กล่าวถึง เชค อับดุลลอฮ์ อัลบุคอรีย์ ถูกอ้างอิงจากตำรา الذريعة إلى بيان مقاصد كتاب الشريعة (٣\٣٢٩) เป็นตำราของ เชค ร่อเบียะอ์ อัลมัดค่อลี่ย์ ที่มาอธิบาย ตำราอัชชะรีอะฮ์ ของ ท่านอิมาม อัลอาญุรรีย์ (ร่อฮิมะฮุลลอฮ์)

         หมายเหตุ : การตัซกียะฮ์ของ เชค อุบัยด์ อัลญาบิรี่ย์ ที่ได้กล่าวถึง เชค อับดุลลอฮ์ อัลบุคอรีย์ อ้างอิงจาก http://miraath.net/questions.php?cat=17&id=1381 และอ้างอิงจาก เป็นเนื้อหาที่ถูกถอดความออกมาจากคลิปเสียงของ เชค อุบัยด์ อัลญาบิรี่ย์

أطال الله في عمره وحفظه

========================================

والله أعلم بالصواب

📚 สรุปความจาก : https://www.ajurry.com/vb/forum/منابرالمتونالعلميةوشروحها/منبرالسيروالتاريخوالتراجم/36550-ترجمةالشيخعبداللهبنعبدالرحيمالبخاريحفظهالله 📚

ช่องเทเลเกรมของเชค : https://t.me/dr_elbukhary