เกร็ดความรู้เกี่ยวกับตำรา “มะซาอิล อัลญาฮิลียะฮ์”

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับตำรา “มะซาอิล อัลญาฮิลียะฮ์”
สรุปจากตำรา ชัรห์ มะซาอิล อัลญาฮิลียะฮ์ ของเชคศอลิหฺ บุตรของ เฟาซาน อัลเฟาซาน หน้าที่ 7-17

โดย อ.ยะห์ยา หัสการบัญชา

1. ถาม : ตำรามะซาอิล อัลญาฮิลียะฮ์ มีชื่อเต็มว่าอะไร?

ตอบ : ตำราเล่มนี้มีชื่อเต็มว่า “มะซาอิลุลญาฮิลียะฮ์ อัลละตี คอละฟ่ะ ฟีฮา ร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮ์ อลัยฮิ วะสัลลัม อะฮ์ลัลญาฮิลียะฮ์”
مسائل الجاهلية التي خالف فيها رسول الله صلى الله عليه وسلم أهل الجاهلية

2. ถาม : ใครคือผู้เรียบเรียงตำราเล่มนี้?

ตอบ : ผู้เรียบเรียงตำราเล่มนี้คือ เชคมุฮัมมัด บุตรของ อับดุลวะฮาบ (ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่านด้วยเถิด)

3. ถาม : อัลญาฮิลียะฮ์แปลว่าอะไร?

ตอบ : อัลญาฮิลียะฮ์ มาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับคำว่า ญะฮ์ล์ แปลว่า โง่เขลา,ไม่รู้
ซึ่งคำว่าอัลญาฮิลียะฮ์นั้น หมายถึง ยุคก่อนหน้าที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮ์ อลัยฮิ วะสัลลัมจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์(ร่อซู้ล)

4. ถาม : ตำราเล่มนี้มีประเด็นที่เกี่ยวกับอัลญาฮิลียะฮ์ทั้งหมดกี่ประเด็น?

ตอบ : ตำราเล่มนี้ประกอบไปด้วยประเด็นอัลญาฮิลียะฮ์ต่างๆทั้งหมด 128 ประเด็น

5. ถาม : เชคมุฮัมมัด บุตรของ อับดุลวะฮาบได้รวบรวมและเรียบเรียงตำราเล่มนี้จากแหล่งอ้างอิงใดบ้าง?

ตอบ : เชคมุฮัมมัดได้รวบรวมและเรียบเรียงตำราเล่มนี้โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัดรวมถึงคำอธิบายจากบรรดาปราชญ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย

6. ถาม : เป้าหมายของการเรียบเรียงตำราเล่มนี้คืออะไร?

ตอบ : เป้าหมายของการเรียบเรียงตำราเล่มนี้ คือ เพื่อตักเตือนบรรดามุสลิมให้รับรู้ถึงภยันตรายของพฤติกรรมต่างๆในยุคญาฮิลียะฮ์และออกห่างจากมัน

7. ถาม : อะฮ์ลุลญาฮิลียะฮ์ มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

ตอบ : อะฮ์ลุลญาฮิลียะฮ์ มีทั้งหมด 2 ประเภท คือ

1. ชาวคัมภีร์(อะฮ์ลุลกิตาบ) ได้แก่

1.1 ชาวยิว โดยคัมภีร์ของพวกเขาคือ อัตเตารอต หรือที่รู้จักในหมู่ชาวยิวว่า คัมภีร์พันธสัญญาเดิม

1.2 ชาวคริสต์ โดยคัมภีร์ของพวกเขาคือ อัลอินญีล(ไบเบิล) หรือที่รู้จักในหมู่ชาวคริสต์ว่า คัมภีร์พันธสัญญาใหม่

2. กลุ่มชนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้(อุมมียูน) คือ ชาวอาหรับที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

8. ถาม : สภาพของชาวคัมภีร์ในยุคก่อนหน้าที่ท่านนบีมุฮัมมัดจะถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสนาทูตของอัลลอฮ์นั้นเป็นอย่างไร?

ตอบ : สภาพโดยรวมของชาวคัมภีร์ทั้งสองพวกนั้นคือ ดำเนินชีวิตไปตามสิ่งหลงผิดต่างๆ เนื่องจากคัมภีร์ของพวกเขาทั้งสองประเภทนั้นได้ถูกบิดเบือนไปจากเนื้อหาดั้งเดิม และเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยเพิ่มเติมสิ่งแปลกปลอมที่เป็นความหลงผิดและค้านกับสัจธรรมความจริงเข้าไปในนั้น รวมถึง ลบสัจธรรมความจริงต่างๆที่ขัดกับอารมณ์และความต้องการของพวกเขาออกไป

โดยสภาพของชาวยิว คือ พวกเขาได้บิดเบือนรวมถึงเปลี่ยนแปลงแก้ไขคัมภีร์อัตเตารอต หรือ ที่รู้จักในหมู่ชาวยิวว่า คัมภีร์พันธสัญญาเดิม ที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานให้แก่ท่านนบีมูซา

ดังนั้นคัมภีร์เตารอตเมื่อถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้วจึงเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆที่หลงผิดและเป็นการปฏิเสธต่อสัจธรรมความจริง 

ส่วนชาวคริสต์ หลังจากที่นบีอีซาได้ถูกยกขึ้นไปบนฟากฟ้าแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง ศาสนาของพวกเขาก็ถูกบิดเบือน และเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยชาวยิวคนหนึ่งนามว่า เปาโล หรือที่รู้จักกันในหมู่ชาวคริสต์ว่า เปาโลอัครทูต ซึ่งชายผู้นี้คือผู้ที่เกลียดชังท่านนบีอีซาเป็นอย่างมากและพยายามใช้เล่ห์เพทุบายในการหาหนทางทำลายล้างแนวทางและคำสอนของท่านนบีอีซา

ดังนั้นเขาจึงแกล้งเข้ามานับถือศาสนาคริสต์ โดยอ้างต่อชาวคริสต์ทั้งหลายว่าเขาได้เห็นท่านนบีอีซาในความฝัน และเกิดความรู้สึกเลื่อมใสในศาสนาคริสต์ รวมถึงรู้สึกสำนึกผิดที่เคยตั้งตนเป็นศัตรูกับนบีอีซา เขาจึงได้เข้ามารับเชื่อและนับถือศาสนาคริสต์ด้วยเหตุนี้ ซึ่งชาวคริสต์ทั้งหลายก็เชื่อคำโกหกของเขา 

จนเป็นเหตุให้ศาสนาคริสต์ต้องถูกบิดเบือน และคัมภีร์อินญีล(ไบเบิล)หรือที่รู้จักในหมู่ชาวคริสต์ว่า “คัมภีร์พันธสัญญาใหม่”ต้องถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในที่สุด 

โดยเปาโลได้นำเอาคำสอนต่างๆของศาสนาบูชารูปปั้นแนวพหุเทวะเข้ามาสอดแทรกไปในคำสอนและพิธีกรรมต่างๆของศาสนาคริสต์ ได้แก่ 

ความเชื่อตรีเอกานุภาพ หมายถึง ความเชื่อว่าอัลลอฮ์ทรงแบ่งภาคในการเป็นพระเจ้าออกเป็นสามส่วน คือ อัลลอฮ์ นบีอีซา(บุตรของอัลลอฮ์ตามความเชื่อของพวกเขา) และวิญญาณอันบริสุทธิ์ 

รวมถึงการสวมไม้กางเขน และแขวนไม้กางเขนไว้ตามโบสถ์หรือสถานที่ต่างๆ ฯลฯ

9. ถาม : สภาพของชาวอาหรับในยุคก่อนหน้าที่ท่านนบีมุฮัมมัดจะถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์นั้นเป็นอย่างไร?

ตอบ : ชาวอาหรับในยุคก่อนหน้าที่ท่านนบีมุฮัมมัดจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. ชาวอาหรับที่นับถือศาสนายิว,ศาสนาคริสต์และศาสนาโซโรอัสเตอร์(บูชาไฟ)

2. ชาวอาหรับที่นับถือและปฏิบัติตามแนวทางของท่านนบีอิบรอฮีม(อัลหะนีฟียะฮ์) โดยพบได้มากในแถบคาบสมุทรอาหรับ

จนกระทั่งชายอาหรับผู้หนึ่งนามว่า อัมร์ บุตรของ ลุฮัย อัลคุซาอีย์ ซึ่งเป็นผู้ปกครองแผ่นดินในแถบคาบสมุทรอาหรับได้เดินทางไปรักษาตัว ณ แผ่นดินชาม(ปัจจุบัน คือ ที่ตั้งของประเทศเลบานอน,ซีเรีย,จอร์แดน และปาเลสไตน์)โดยเขาประทับใจและชื่นชอบศาสนาบูชารูปปั้นในแผ่นดินชาม

เขาจึงเป็นบุคคลแรกที่นำคำสอนและพิธีกรรมทางศาสนาของพวกบูชารูปปั้นเข้ามาสู่แผ่นดินคาบสมุทรอาหรับ โดยได้สั่งให้ชาวเมืองทำการขุดค้นหารูปปั้นของบรรดาผู้มีคุณธรรมทั้งห้าในยุคนบีนัวะหฺ ได้แก่ วัด,สุวาอฺ,ยะฆูษ,ยะอูก และ นัสร์ ซึ่งจมอยู่ใต้ผืนแผ่นดินนับตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมโลกในยุคนบีนัวะหฺ 

โดยหลังจากที่เขาและชาวเมืองได้ขุดรูปปั้นเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว อัมร์บุตรของลุฮัย ก็ได้ทำการแจกจ่ายรูปปั้นทั้งห้านี้ไปให้แก่อาหรับเผ่าต่างๆเพื่อเคารพบูชา และนี่จึงเป็นครั้งแรกที่ชาวอาหรับได้เคารพบูชารูปปั้นภายใต้การชักนำของอัมร์ บุตรของ ลุฮัย อัลคุซาอีย์

ด้วยเหตุนี้เอง สภาพของชาวอาหรับในยุคก่อนหน้าที่ท่านนบีมุฮัมมัดจะถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสนาทูตของอัลลอฮ์นั้นจึงเต็มไปด้วยความโง่เขลา งมงาย และพฤติกรรมที่หลงผิดในรูปแบบต่างๆ เช่น

1. สตรีจะทำการเปิดเผยเรือนร่างและเครื่องประดับในที่สาธารณะ รวมถึงในขณะทำการเดินวน(ฎ่อวาฟ)รอบกะอฺบะฮ์(หินดำ) ท่ามกลางผู้คนทั้งหลาย เนื่องจากเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้บ่งบอกถึงความมีเกียรติและศักดิ์ศรีที่น่าภาคภูมิใจ

2. มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกตามเผ่าต่างๆ ไร้ซึ่งความเป็นเอกภาพภายใต้แนวทางคำสอนที่เป็นสัจธรรมความจริง

3. ไม่ยอมจำนนและเชื่อฟังต่อผู้นำ โดยพร้อมจะโค่นล้มหรือกระด้างกระเดื่องต่อผู้นำได้ทุกเมื่อที่พวกเขาไม่พอใจ

ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้เองพฤติกรรมต่างๆในยุคญาฮิลียะฮ์จึงเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจและน่าตำหนิ ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัดได้ห้ามปรามบรรดามุสลิมทั้งหลายมิให้ปฏิบัติตามพฤติกรรมเหล่านี้

10. ถาม : พฤติกรรมต่างๆในยุคญาฮิลียะฮ์นั้นยังมีอยู่หรือไม่ในยุคอิสลามตั้งแต่เริ่มต้นจวบจนกระทั่งปัจจุบัน?

ตอบ : พฤติกรรมญาฮิลียะฮ์โดยภาพรวมนั้นถือว่าหมดไปแล้วนับตั้งแต่ที่อัลลอฮ์ได้ทรงแต่งตั้งท่านนบีมุฮัมมัดมาพร้อมกับศาสนาอิสลามและคำสอนต่างๆที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอานและแบบอย่างของท่านนบี(สุนนะฮ์ฺ) เนื่องจากศาสนาอิสลามได้มาลบล้าง คำสอนและพฤติกรรมต่างๆในยุคญาฮิลียะฮ์ออกไปจนหมดสิ้น ดังนั้นคำสอนและแนวทางของยุคญาฮิลียะฮ์โดยภาพรวมจึงไม่หลงเหลืออีกแล้ว 

แต่ว่าพฤติกรรมแบบญาฮิลียะฮ์ในส่วนบุคคลนั้นยังคงมีอยู่ ดังที่เราพบเห็นได้ทั่วไปว่าบุคคลบางคนหรือบางแห่งก็จะยังคงมีพฤติกรรมส่วนตัวบางอย่างที่ยังเป็นพฤติกรรมแบบชนในยุคญาฮิลียะฮ์อยู่บ้าง เช่น การโอ้อวดชาติตระกูล การเยาะเย้ยดูถูกเชื้อสายเผ่าพันธุ์ การร้องไห้ฟูมฟายแก่ผู้ตาย ฯลฯ

11. ถาม : อนุญาตให้กล่าวว่า โลกและผู้คนทั้งหลายในปัจจุบันนี้ยังคงอยู่ในยุคญาฮิลียะฮ์ได้หรือไม่?

ตอบ : ไม่อนุญาตให้กล่าวถ้อยคำในลักษณะดังกล่าวนี้ เนื่องจากการกล่าวในลักษณะนี้ ถือเป็นการปฏิเสธการเป็นศาสนทูตของท่านนบีมุฮัมมัดที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากอัลลอฮ์ รวมถึงยังเป็นการปฏิเสธต่ออัลกุรอานและแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัดด้วยเช่นกัน เพราะว่าท่านนบีมุฮัมมัดได้รับการแต่งตั้งมาจากอัลลอฮ์พร้อมคำสอนต่างๆที่อยุ่ในอัลกุรอานและแบบอย่างของท่านซึ่งทั้งหมดนี้ได้มาลบล้างยุคญาฮิลียะฮ์ไปจนหมดสิ้นแล้ว

12. ถาม : ในเมื่อยุคญาฮิลียะฮ์ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ทำไมเรายังจะต้องมาศึกษาเรียนรู้ประเด็นหรือพฤติกรรมต่างๆในยุคญาฮิลียะฮ์อีก?

ตอบ : แม้ว่ายุคญาฮิลียะฮ์จะสิ้นสุดไปแล้วโดยภาพรวมนับตั้งแต่ที่ท่านนบีมุฮัมมัดได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศาสนทูตของอัลลอฮ์ แต่ทว่าพฤติกรรมแบบชนในยุคญาฮิลียะฮ์ยังคงมีอยู่ในพฤติกรรม,ความเชื่อและการปฏิบัติตัวของผู้คนบางส่วนนับตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของอิสลามจนถึงปัจจุบัน 

ดังนั้นมุสลิมจึงจำเป็นจะต้องศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆของยุคญาฮิลียะฮ์ เพื่อที่เขาจะได้ออกห่างรวมถึงแนะนำตักเตือนผู้อื่นไม่ให้ตกอยู่ในพฤติกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน

วัลลอฮ์ อะอฺลัม

สรุปจากตำรา ชัรห์ มะซาอิล อัลญาฮิลียะฮ์ ของเชคศอลิหฺ บุตรของ เฟาซาน อัลเฟาซาน หน้าที่ 7-17